วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

B.O.Q หรือรายการปริมาณงาน(Bill Of Quantity) สำคัญมาก...เวลาให้ผู้รับเหมางานเสนอราคา!!!

     B.O.Q หรือรายการปริมาณงาน(Bill Of Quantity) คืออะไรครับ? ผมเชื่อว่ามีหลายท่านคงสงสัย และมันสำคัญอย่างไร?
     เชื่อหรือไม่ครับ ใครที่เป็นนักศึกษาเรียนเกี่ยวกับการ "ออกแบบตกแต่งภายใน" สมัยผมเรียนนั้นไม่มีการสอนว่าต้องมีการเขียน B.O.Q ประกอบงานเขียน ออกแบบตกแต่งภายใน กันนะครับ ผมมาเรียนรู้ได้เอาหลังจากจบมาทำงานได้สักสองปีหลังจากนั้นว่า เอ้อ..! เจ้าเอกสารประกอบแบบตกแต่งภายในตัวนี้มันมีความสำคัญกับ ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมางานตกแต่ง และท่านเจ้าของงาน เจ้าของบ้านทั้งหลายมากที่เดียว มาดูกันนะครับ..(ใครที่รู้แล้วก็อย่าหาว่าผมพูดทำไมเลยครับ ผมว่าอย่างน้อยก็เป็นวิทยาทานให้กับน้องๆนักศึกษา และท่านเจ้าของบ้านตาดำๆ และผู้รับเหมาตกแต่งจำนวนมาก ก็คงเห็นด้วยกับผมเหล่ะครับ เพราะมี นักออกแบบตกแต่งภายใน หลายๆท่าน หน้าใหม่อาจไม่รู้ หน้าเก่าต้องรู้ แต่ไม่มีเวลาเขียน ขี้เกียจเขียน เขียนไม่ทัน ก็ว่ากันไป)
     อันนี้เป็นตัวอย่างเอกสารที่ผมเขียนขึ้นมาหลังจากการออกแบบ และเขียนแบบรายละเอียด งานตกแต่งภายในเสร็จแล้ว ที่นักออกแบบตกแต่งภายใน เรียกว่า B.O.Q หรือรายการปริมาณงาน(Bill Of Quantity) ซึ่งตัวอย่างนี้เป็นรายการเพียงแค่ห้องเดียว (แล้วท่านคิดดูว่าบ้านทั้งหลัง เอกสารจะมีกี่หน้าครับ) ที่ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน ต้องคิดราคางานที่ต้องเสนอโดยอิงตามแบบ และตาม B.O.Q นี้โดยที่ผู้ออกแบบ จะเว้นว่างช่องที่กรอกจำนวนปริมาณ และราคา ไว้ให้ผู้เสนอราคางานเป็นผู้กรอก ตัวเลข
     จุดประสงค์ก็คือ เพื่อให้ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน (ที่อาจจะมีมากกว่าหนึ่งราย และแม้ว่าจะมีแค่รายเดียว ก็ควรเขียนขึ้นมา) ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ ได้ทราบว่าจะต้องคิดราคาเพื่อเสนอเจ้าของบ้านว่ามีอะไรบ้าง โดยไม่สับสน ไม่หลงแบบ หลงรายการ และหลงประเด็น
     ประโยชน์โดยตรงกับทุกๆฝ่ายก็คือ
     -หากมีผู้เสนอราคางานมากกว่าหนึ่งราย ทั้งผู้ออกแบบ และเจ้าของบ้าน สามารถเปรียบเทียบรายการงาน ราคา แต่ละรายการได้โดยง่าย ไม่สับสนอลหม่านกันไป
     -สามารถเห็นความแตกต่าง หรือผิดปกติในผู้เสนอราคาแต่ละเจ้าได้ง่าย เช่นบ่อยครั้งที่เสนอจำนวนพื้นที่มาต่างกันมากไป
     -ผู้เสนอราคาแต่ละราย จะได้ลดทอนความได้เปรียบ เสียเปรียบ จากการเสนอราคาที่สับสน ไม่ตรงกัน หรือจงใจผิดพลาดโดยบริสุทธ์ใจ
     -ช่วยลดปัญหาข้อขัดแย้งให้กับทุกๆฝ่าย ไม่ต้องทะเลาะกันมั่ว ด้วยเหตุแห่งความไม่ชัดเจนในรายการงานว่า อันไหนรวม ไม่รวมในราคางาน เผลอคิดตก หก หล่น โดยไม่ได้เจตนา
     -ช่วยให้เจ้าของบ้าน เจ้าของงาน ต่อรองราคาผู้เสนอราคางาน ได้โดยสะดวกขึ้น (อันนี้สำคัญมากกกก ขอบอก ท่านเจ้าของอมยิ้มเลย..หุๆชอบใจสิท่าน)
     ดังนั้นทั้งหลายทั้งปวง จะเห็นได้ว่าการเขียนเอกสาร B.O.Q หรือรายการปริมาณงาน(Bill Of Quantity) นั้น ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ยกเว้น ผู้ออกแบบบางรายข้างต้นที่ผมบอก คือขี้เกียจ ทำไม่ทัน ไม่มีเวลา....และค่าแบบถูกมาก ไม่คุ้ม....เข้าใจตรงกันนะครับ ท่านทั้งหลาย อย่าไปบีบค่าออกแบบ นักออกแบบตกแต่งภายใน กันนักเลยครับ ค่ากระดาษอีกตั้งหลายแผ่น ที่ท่านเจ้าของบ้านมองไม่เห็น..ผมไม่ได้ประชดเลยนะครับ 555

วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เชื่อหรือไม่ "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" พูดคุยแต่เนิ่นๆ ช่วยท่านประหยัดงบได้เยอะกว่าค่าออกแบบ อีกครับ..?

        ผมมีประสบการณ์ "ออกแบบภายในบ้าน" ที่หลายครั้งพบว่า ท่านเจ้าของบ้านต้องเสียเงินซ้ำซ้อนไปกับ ค่ารื้อถอน ทุบทิ้ง วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ชอบ ไม่ต้องการ ไม่สวยงาม เป็นหลักหมื่นจนเหยียบหลักแสนก็เคยมีนะครับ เช่น รื้อฝ้าเพดานเพื่อเจาะช่องทำหลุมฝ้าใหม่ ทุบผนังบางผนังทิ้งเนื่องจาก พื้นที่ไม่เหมาะกับการใช้งาน หรือทุบสกัดผนัง เพื่อย้าย เดินเพิ่มตำแหน่งปลั๊กสวิทช์ไฟ หรือรื้อ Wall Paper ที่ทางโครงการแถมให้มา แต่ไร้คุณภาพ หรือลายไม่สวยงาม แบบพื้นๆเกินไป สีไม่ถูกใจ หรือบางบ้านที่ผนังทาสีไม่ติด Wall Paper แต่ต้องมาทาสีทับใหม่ อันเนื่องมาจาก การติดตั้งแอร์ หรือติดตั้งงานเฟอร์นิเจอร์ Built In (บางท่านอาจคิดว่า อ้าว!..ก็ให้ช่างรับผิดชอบไปสิ! แล้วท่านคิดว่า ช่างเขาจะไม่คิดบวกเข้าไปในราคางานกับท่านหรือครับ?) และพื้นไม้ลามิเนตที่โครงการแถมมาให้ คุณภาพยอบแยบ ย่างเท้าทีสะดุ้ง ลายไม่ถูกใจ ก็ต้องถูกรื้อ ทั้งหมดนี้รวมๆแล้ว บางครั้งค่ารื้อถอนนี่ แพงกว่าค่าออกแบบเสียอีก ทำเป็นเล่นไปครับ
        เรื่องแบบนี้ป้องกันได้ครับ ถ้าท่านเรียนรู้ไว้ก่อน นั่นคือขั้นตอนการคุยรายละเอียดกับ "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" หรือว่า "Interior Designer" ในช่วงที่บ้านหรืออาคารยังก่อสร้างอยู่ครับ ผมจะไล่ให้ดูเป็นลักษณะของชนิดที่พักอาศัยก่อนนะครับ
        ยอดฮิตเลย..คือ"คอนโดมิเนียม" หรือ "บ้านจัดสรรค์" นั่นเอง เวลาท่านไปซื้อห้องชุดใน"คอนโดมิเนียม" หรือ "บ้านจัดสรรค์"ไม่ว่าจะราคาถูกแพงก็ตาม โดยมากทางโครงการจะระบุ วัสดุอุปกรณ์มาตรฐานของบ้านมาให้ เช่น พื้นไม้ กระเบื้อง ไฟฟ้า ดวงโคม สุขภัณฑ์ สีผนัง ตู้เสื้อผ้า ชุดครัว บลาๆๆ สิ่งเหล่านี้ถ้าเราวางแผนให้ดี ตัดสินใจให้ชัดเจนแต่แรกตั้งแต่เริ่มซื้อ "คอนโดมิเนียม" หรือ "บ้านจัดสรรค์" เราสามารถคุยต่อรองกับทางโครงการผู้ขายได้ครับ โดยส่วนมากเขาจะยอมให้เปลี่ยนแปลง ลดเพิ่มรายละเอียดได้ครับ ยกเว้นโครงการที่มีราคาถูกจริงๆ อาจจะไม่ยอมเพื่อความสะดวกของเขาครับ เพียงแต่ว่า...ส่วนมากแล้ว ถ้าเป็นรายการลดทอน เขาจะคืนเป็นเงินค่าของให้เราค่อนข้างน้อย แต่..บอกได้เลยครับว่า ดีกว่ามาเสียค่ารื้อถอน ให้เสียหาย ลามวุ่นวายในภายหลังครับ โดยที่รายละเอียดเหล่านี้ ควรผ่านการพูดคุยปรึกษากับ "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" ตั้งแต่ตัดขั้นตอนสินใจซื้อและสรุปเลือกแบบบ้าน หรือห้องชุดแล้ว และชัดเจนว่า ต้องการใช้งาน "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" ให้เข้ามาช่วยดูช่วยเลือกตั้งแต่เห็นแบบแปลนบ้าน หรือห้องเลยครับ (แต่ต้องพูดคุยกับผู้ออกแบบตกแต่งภายในแล้วนะครับ ในรายละเอียดการออกแบบภายในแล้วด้วยนะครับ อาจจะยังไม่ 100 % ก็ไม่เป็นไรครับ แต่ควรให้ใกล้เคียงที่สุด)
       อันดับแรกเลยครับ แบบแปลนห้อง จะกั้นจะยกเลิกผนังบริเวณใดคิดให้ดีครับ สีผนัง หรือ Wall Paper ถ้าท่านมีงบใช้ของดี หรือใช้งานดีไซน์ ตรงนี้แนะนำให้ ยกเลิกเหลือแค่เก็บงานทาสีรองพิ้นเลยครับ ที่เหลือไว้ให้งานออกแบบจัดการให้ดีกว่าครับ
       อันดับต่อมา จุดตำแหน่งสวิทช์ ปลั๊กไฟ ดวงโคมส่องสว่าง แอร์จะลดจะเพิ่ม จะย้าย ดูให้ดีในช่วงที่กำลังออกแบบภายใน ให้ผู้ออกแบบภายใน ทำตรงนี้ให้ทันกับเดทไลน์งานก่อสร้างได้ครับ
       อันดับต่อมา ห้องน้ำครับ ส่วนมากที่เจอบ่อยๆเลยคือการยกเลิกอ่างอาบน้ำเป็นส่วนยืนอาบครับ และก็การเลือกแบบกระเบื้อง
       ต่อมาก็ชุดครัวและตู้เสื้อผ้าครับ เดี๋ยวนี้มักจะแถมมาให้ด้วย แต่ดูให้ดีครับว่ารับได้หรือไม่ ทั้งวัสดุและอุปกรณ์ ยกเลิกได้ครับ
       ถัดมาก็เป็นเรื่องพิ้นครับ จะเอาไม้จริง ไม้ปาร์เก้ หิน กระเบื้อง เอาให้แน่ครับ
       สุดท้าย ฝ้าเพดานครับ ออกแบบภายในให้เสร็จก่อนครับ ว่าจะมีหลุม มีซ่อนไฟ จะเจาะจะเหลี่ยม จะกลม เอาให้แน่ชัดก่อนดีกว่ามารื้อทีหลังครับ
       โดยสรุปก็ประมาณนี้ครับ ส่วนรายละเอียดแต่ละที่แต่ละโครงการ อาจจะยืดหยุ่นให้ท่าน มากน้อยไม่เท่ากันก็ว่ากันไปครับ ส่วนท่านที่จ้างผู้รับเหมาก่อสร้างสร้างบ้านให้ จะโดยสถาปนิก หรือสถาปนึก (คือ ท่านหรือผู้รับเหมา หรือเจ้าหน้าที่เขต นึกให้ท่าน) จะง่ายกว่าครับ ในการที่จะเลือกสรุป เอาหรือไม่เอา วัสดุอุปกรณ์ที่ว่ามาทั้งหมด โดยผ่านการปรึกษษากับผู้ออกแบบภายในครับ ช่วยท่านประหยัดได้มากว่า ค่าออกแบบจริงๆนะครับ

วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

สงสัยกันรึเปล่าครับ..ทำไมราคางานช่างเฟอร์นิเจอร์แต่ละเจ้าถึงแตกต่างกันมาก?

           "คนรักบ้าน"ทั้งหลายครับ....เคยสงสัยกันบ้างรึเปล่าครับ..ทำไมราคางานช่างเฟอร์นิเจอร์แต่ละเจ้า แม้ว่าจะมีแบบให้คิดราคาแบบเดียวกัน ทำไมราคาที่แต่ละเจ้าเสนอมา ถึงแตกต่างกันมาก?
             บ่อยครั้งมากครับ ที่ผม หรือบรรดา "สถาปนิก ออกแบบตกแต่งภายใน" ทั้งหลาย เมื่อทำการเขียนแบบแสดงรายการออกแบบเสร็จแล้ว (พวกผมเรียกว่า Working Drawing) เมื่อนำไปให้ "ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน" สองสามเจ้า ประเมิณราคา กลับพบว่าราคาเฟอร์นิเจอร์ เช่นตู้บางรายการ กลับมีราคาที่แตกต่างจากผู้รับเหมาเจ้าอื่นเป็นอย่างมาก นี่ขนาดเป็นแบบมีมาตรฐานการเขียน และออกแบบ นะครับ นับประสาอะไรกับการประเมิณราคาแบบนั่งเทียน ที่ไม่มีแบบที่ชัดเจน ไม่มีการระบุสเป็คจากนักออกแบบ หรืองานชี้นิ้วสั่งเอา จิ้มเอาจากแม๊กกาซีน "คนรักบ้าน"หลายๆท่านจึงเลือกที่จะใช้เจ้าที่ถูกที่สุดเป็นผู้ชี้ชะตากรรมบ้านของตัวเอง...แต่ช้าก่อนครับ ลองมาดูกันครับว่า...มีปัจจัยอะไรบ้างที่หลบซ่อนอยู่ในราคางานเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้น?
           ปัจจุบัน ราคางานเฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน ที่"ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน" ส่วนมาก คิดราคากันแบบคร่าวๆหยาบๆ ที่ตู้ความสูง 2.50 เมตร ถูกแพงขึ้นอยู่กับแบบและวัสดุที่ใช้ โดยมีตั้งแต่ความยาว เมตรละ 20,000-35,000 บาทปลายๆ (เกินกว่านี้ต้องเป็นหน้าบานตู้ปิดทองคำเปลวแล้วละครับ)  ปัจจัยที่มีผลต่อราคาที่แตกต่างมีสองอย่างครับ คือ 1.ปัจจัยที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และ 2.ปัจจัยที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (ไม่ถึงกับต้องใช้ญาณทิพย์ กันหรอกครับท่านผู้อ่าน) 
           1.ปัจจัยที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีอะไรบ้างครับ
              -โครงไม้ที่แบกรับน้ำหนักวัสดุปิดผิวภายนอกต่างๆครับ มีสารพัด หลายเกรด หลายราคา หลายคุณภาพ (เอาไว้ค่อยขยายความนะครับ ยาววว) ท่านจะเห็นได้ตอนก่อนที่ช่างไม้ เขาจะยึดตู้เข้าที่ผนัง หลังจากนั้นท่านจะมองไม่เห็น (โปรดระวัง!!! ระยะการวางโครงไม้ และขนาดของโครงไม้ มีผลต่อการรับน้ำหนักครับ)
             -วัสดุปิดผิวภายนอก เช่นไม้อัดโชว์ลายไม้ (ไม้แต่ละสายพันธ์ราคาไม่เท่ากัน ความหนาไม่เท่ากัน) ไม้อัดโป๊วขัดเรียบทำสีพ่นเฟอร์นิเจอร์ (เงามาก เงาน้อย พ่นเรียบมาก เรียบน้อย ราคาย่อมไม่เท่ากัน) หลายๆครั้งช่างมักจะเสนอไม้ MDF หรือ ไม้ Particle Board ในการทำสีพ่น (สงสัยรายละเอียด ให้กลับไปอ่านหน้านี้ครับ  http://designatelierinterior.blogspot.com/2015/01/sb-index.html )
             -วัสดุประกอบในงานอื่นๆเช่น โลหะ กระจก สีพิเศษ บลาๆๆ

 -บานพับเฟอร์นิเจอร์ มีราคาตั้งแต่ ตัวละไม่กี่สิบบาท จนถึงตัวละ เป็นร้อยหรือหลายๆร้อย แม้แต่ยี่ห้อเดียวกัน ยังมีแบ่งชั้นวรรณะในการขายเลยครับ  ท่านลองเปรียบมวยในรูปดูละกันครับ



 -รางเลื่อนลิ้นชัก เช่นกันครับ มีราคาตั้งแต่ ตัวละไม่กี่สิบบาท จนถึงตัวละ เป็นร้อยหรือหลายๆร้อยบาทครับ ไม่ต้องบอกนะครับตัวไหนถูกแพงกว่ากัน











-มือจับเฟอร์นิเจอร์  เช่นกันครับ มีราคาตั้งแต่ ตัวละไม่กี่สิบบาท จนถึงตัวละ เป็นร้อยหรือหลายๆร้อยบาทครับ (ที่ถูกต้อง ผู้ออกแบบจะกำหนดราคาเฉลี่ยต่ออัน หรือเลือกระบุรุ่นที่ชัดเจนให้เลย และกำหนดตำแหน่งที่สวยงามในการติดตั้งให้ ไม่ควรให้ช่างเลือก และติดตั้งเองโดยไม่ปรึกษาผู้ออกแบบก่อนนะครับ เชื่อหรือไม่ครับว่า แค่ตำแหน่งที่ติดไม่ถูกต้อง ก็ทำให้ตู้เฟอร์นิเจอร์ของคุณดูโบราณไปในบัดดลกันทีเดียวเชียว ขอบอกครับ ผิดอย่างแรงงงงง)

               2.ปัจจัยที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีอะไรบ้างครับ
                 -คุณภาพฝีมืองานช่างไม้ และช่างทำสีเฟอร์นิเจอร์ครับ ตรงนี้มีผลอย่างมากครับ (เห็นตอนจบ แก้ไม่ทันครับ หุๆ) ผมยกตัวอย่าง การกะระยะห่างระหว่างบานให้เหมาะสมและได้มุมได้ฉาก มีผลต่อความสวยงามนะครับ
                 -การบริหาร การจัดการ ของทีมผู้รับเหมาครับ ตรงนี้มีผลครอบคลุมทั้งเรื่องเวลา และคุณภาพงานโดยรวมครับ งานบางงานควรทำให้เสร็จภายในห้าหกเดือน กลับปรากฎว่า ยาวไปถึงปี หรือ ปีครึ่ง ผมก็เคยเจอมาแล้ว ถ้าคิดเป็นมูลค่าเงินออกมาได้นี่ หลายตังเลยครับ คือคุณเอาเวลาที่เสียไปนั่น ทำมาหาสตังค์ได้เยอะกว่านะครับ เสียทั้งคนออกแบบ เจ้าของบ้าน และผู้รับเหมา...เฮ้อ!!! และแม้กระทั่งการจัดหาวัสดุมาปกคลุมหน้างานไม่ให้เกิดความเสียหาย เช่นพื้นไม้ พื้นหิน ผนัง ของเดิม ก็เป็นต้นทุน และหากเจอทีมช่างที่ไม่ดี ก็สร้างความเสียหายให้กับ "คนรักบ้าน" ได้ครับ
             "คนรักบ้าน" อย่าคิดว่าทำไม่ดี ก็ไม่รับงานนะครับ เอาเข้าจริงปัญหาที่ตามมา ค่าทะเลาะกันกับผู้รับเหมางาน นี่ไม่คุ้มกันครับเหนื่อยและเครียดไม่คุ้มครับ และการแก้ไขงานเมื่อผ่านไปขั้นตอนหนึ่งๆแล้ว ยิ่งแก้ยิ่งช้ำครับ ดังนั้นควรตัดสินใจให้ดีครับ ในการพิจารณาเลือกใช้ "ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน" ที่ดีก็มีเยอะ ที่ไม่ดีก็เยอะ พกดวงไว้กะตัวด้วยนะครับ จะถูกจะแพง มีโอกาสทั้งนั้นครับ ส่วนที่ผมว่าแม้กระทั่งมีแบบมาตรฐานแล้ว ยังมีหลงตีราคามาผิดแปลกเว่อร์นี่ ส่วนมากมักเกิดกับผู้รับเหมาอ่านแบบผิดพลาดซะส่วนมาก แต่ก็มีบางครั้งครับที่เกิดกับ ผู้รับเหมาเจ้า No Name ที่ไม่คุ้นเคยกับการรับงานที่มีแบบมาตรฐานควบคุม เลยคิดราคามาแบบตามใจฉัน ตายเอาดาบหน้ากันครับ คือเอางานไว้ก่อน ที่เหลือไปลุ้นเอาหลังได้งานครับ เข้าใจตามนี้นะครับ "คนรักบ้าน"
           

วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

วิธีการรับงานที่แตกต่างกัน ของ "Interior Design" หรือ "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน ท่านทราบหรือไม่?

         ผมเชื่อเลยครับว่า ใครที่ไม่เคย หรือแม้แต่บางท่านที่เคยว่าจ้างนักออกแบบตกแต่งภายใน หรือ "Interior Designer" มาก่อนหลายๆท่าน ไม่ทราบหรอกครับว่า มีวิธีการการรับงานของ "Interior Designer" ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละเจ้า ต่างกันอย่างไรหรือครับ?"......มาดูกันเลยครับ

         แบบแรก...(อันนี้เป็นมาตรฐานดั้งเดิมจะว่าเป็นสากลก็ว่าได้) คือรับออกแบบอย่างเดียวเพรียวๆ ไม่ใช้สลิง ไม่ใช้เอฟเฟ๊ก (อันนี้ผมเพ้อเจ้อเองครับขออภัย) คือออกแบบให้โดยคิดค่า Fee ในการออกแบบ จากงบประมาณการจัดสร้างที่ประเมิณคร่าวๆเป็นตุ๊กตา (แปลว่าสมมุตินะครับ) บนเงื่อนไขต่างๆอะไรก็ว่าไป เช่น คอยตรวจสอบงานให้เป็นระยะจน ผู้รับเหมาส่งงานงวดสุดท้าย (ตรงนี้มีหลายคนเข้าใจผิดว่า ผู้รับจ้างเป็นโฟร์แมนควบคุมงาน ประมาณว่า ต้องนั่งเฝ้าหน้างานเป็นยามเฝ้าไซต์งาน จริงๆแล้วแค่ตรวจสอบงานเป็นระยะๆ ตามแต่เงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาว่าจ้างนะครับ ส่วนโฟร์แมนคุมงาน ถ้าเป็นงานใหญ่ๆจริงๆ ทางผู้รับเหมางานจึงจะจัดหามาไว้ให้ครับ) โดยที่ทางผู้ออกแบบ เมื่อออกแบบเสร็จแล้ว จะจัดหาผู้รับเหมางานมาตีราคางาน (โดยมีรายการระบุงานที่ต้องคิดราคา หรือBOQกำกับ เอาไว้คราวหน้าผมจะเขียนเรื่องนี้ให้อ่านกันครับว่าทำไมต้องมี BOQ กำกับ)  ให้ผู้ว่าจ้างเลือกพิจารณา ซักสามเจ้า มากน้อยกว่านี้แล้วแต่จะเห็นควร หรือเจ้าของงานจะจัดหามาเองทั้งหมด หรือแทรกเสริมเข้าไปบ้าง ก็ไม่ว่ากันครับ แต่มีข้อควรระวังว่า การพิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมางาน ต้องผ่านหูผ่านตา ผ่านฝีมือกันมาบ้าง อย่าเห็นแก่ของถูกนะครับ เจ็บช้ำกันมาเยอะแล้วขอบอกครับ เมื่อได้ผู้รับเหมางานแล้ว ก็รับผิดชอบ ดูแลให้คำปรึกษา กับเจ้าของงานและผู้รับเหมาไปตามวาระ ตามโอกาส จนจบงานกันไปครับ
        แบบที่สอง....คือรับออกแบบพ่วงงานรับเหมาจัดสร้างด้วย (Turnkey) ก็ตามความหมายละครับ คือขอทำงานรับเหมาให้ด้วย ไม่ต้องมีผู้รับเหมาเจ้าอื่นใดมาเอี่ยวเกี่ยวข้องกับฉัน โดบแบบนี้ยังมีแยกย่อยอีกนะครับว่า บางเจ้าเสนอมาเป็นก้อนรวมค่าออกแบบมาในงบเลยโดยไม่ระบุค่าออกแบบ เสมือนว่าออกแบบให้ฟรี (พาหลงประเด็นกันไปเยอะครับ ณ.จุดนี้) บางเจ้าแยกค่าออกแบบมาให้ดู โดยมีเงื่อนไขกำกับว่า ถ้าสุดท้ายให้ทำงานรับเหมาด้วยจะคืนค่าออกแบบเป็นส่วนลดให้ บางเจ้าก็ถ้าไม่ได้ทำงานรับเหมา ขอเก็บค่าแบบเต็มๆไป และไม่ว่าจะเสนอมาแบบไหนก็ตาม ผมขอแนะนำท่านผู้ว่าจ้างทั้งหลายเลยนะครับว่า ต้องแจงรายละเอียดในงานรับเหมามาว่า ในราคาที่เสนอมานั้น ท่านผู้ว่าจ้างได้รับปริมาณงาน แบบใด จำนวนเท่าไหร่ รวมไม่รวมอุปกรณ์ประกอบอะไร ยิ่งละเอียดยิ่งดี อาจจะหมายถึงว่าผู้รับงานเจ้านั้นไม่มั่วนะครับ ผมมีประสพการณ์ทำงานที่เคยเจอว่า รับเหมางานกัน สมมุติ 1 ล้านบาท แต่ไม่แจกแจงให้ชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง สุดท้ายจบแบบไม่สวยครับ เพราะหาตัวกลางตัดสินไม่ได้ว่ามาตรฐานที่ควรได้คืออะไร และการที่บางเจ้านั้นรับงานแบบ Turnkey นั้น ไม่ได้หมายความว่า เจ้านั้นมีช่างงานรับเหมาเองนะครับ บางเจ้ามี บางเจ้าไม่มี แต่ก็ไม่ใช่ปัญหานะครับ ขอเพียงรายละเอียดชัดเจนว่ามีอะไรให้ท่านบ้าง
        สรุปตอนจบครับ...ไม่ว่าท่านจะตัดสินใจเลือกใช้แบบไหน ตามสะดวกเลยครับ จะมีค่าแบบ ไม่มีค่าแบบ สุดท้าย...คนทำงานออกแบบ ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายครับ (บางคนแอบคิดเอาเองว่า นักออกแบบ ไม่กินข้าว อิ่มทิพย์ 55)

วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

เฟอร์นิเจอร์ Built In ฝีมือมาตรฐานขนาดไหน? ที่ไม่ควรรับงาน!!!

          พอดีวันนี้ ขอแทรกบทความที่ไม่ได้อยู่ในคิวที่จะเขียนหน่อยครับ เรื่องมีอยู่ว่า ผมได้ไปเจอกระทู้ใน Pantip กระทู้หนึ่งมา เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อ "คนรักบ้าน" เลยขออนุญาติท่านเจ้าของกระทู้ นำมาเผยแพร่ให้ดูกันนะครับ ตามลิ้งค์นี้ครับ

  ถามงานบิ้วท์อินครับ งานแบบนี้ถือว่า    ปกติไหมครับ

 http://goo.gl/ajBZWP 
          เนื้อหามีอยู่ว่า ท่านเจ้าของกระทู้ได้ว่าจ้าง ผู้รับเหมางานตกแต่งให้ทำงานเฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน และได้มาโพสท์ถามว่า คุณภาพงานแบบนี้ สมควรให้ช่างแก้ไขงานหรือไม่? มีเพื่อนสมาชิกมาตอบกระทู้กันหลากหลายอยู่นะครับ ส่วนใหญ่...จะบอกว่าสมควรให้แก้ไขครับ โดยเฉพาะ..ถ้ายังจ่ายเงินไม่ครบ!!!
          ประเด็นที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นคือ...?
          สำหรับคนรักบ้านทั้งหลายครับ.....จากรูปที่เห็น ต้องบอกว่าเป็นผลงานที่ไม่สมควรรับงานนะครับ ไม่ว่าช่างจะอ้างเหตุผลอะไรก็ตาม (ช่างมักจะอ้างว่า งานไม่ได้ราคา ก็ทำได้แค่นี้ละครับ) ต้องชี้ให้แก้ไขนะครับ ถ้าท่านยังจ่ายเงินไม่ครบ ยิ่งต้องบอกให้แก้ครับ แต่ถ้าท่านจ่ายไปครบแล้ว คงต้องพูดจาหว่านล้อมกันดีๆละครับ
          สำหรับคนรักบ้านทั้งหลายครับ.....สิ่งที่ผมอยากจะบอกเพิ่มเติมคือ....นี่เป็นตัวอย่างของหน้าที่ในการตรวจสอบงานของอาชีพ "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" ที่จะต้องทำนอกเหนือจากการออกแบบนะครับ เจ้าของบ้านหลายๆท่าน ไม่ทราบจริงๆครับ ว่ามาตรฐานงานที่ดี อยู่ที่ตรงไหน และ เป็นอีกอย่างที่พึงระวังคือ ถ้าท่านเลือกผู้รับเหมางานผิดพลาด แล้วสั่งให้เขาแก้ไขงานหลังจากใกล้จบงานแล้ว บางกรณี มันแก้ไขยาก หรือ แก้ไปงานก็ช้ำครับ รวมถึงตัวท่านเองก็คงต้องช้ำใจครับ
           สำหรับช่างและผู้รับเหมางานตกแต่งทั้งหลาย....อย่าทำลายชื่อเสียงของวงการช่าง ด้วยข้ออ้างว่า รับงานมาราคาถูก(ถึงแม้ราคาจะถูกจริงๆก็ตาม) ผมเคยเห็นผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน หลายๆเจ้านะครับ ที่ราคาถูกแต่ฝีมือดี และราคาแพงด้วยฝีมือดีด้วย งานเยอะด้วย เพราะชื่อเสียงที่เขาสั่งสมไว้ จนเจ้าของบ้านยอมจ่ายในราคาที่แพงกว่าครับ ช่วยๆกันเถอะครับท่านทั้งหลาย
       

วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

ทำไม?....ผมถึงแนะนำให้ใช้บริการของ SB หรือ Index

       เกริ่นมาแบบนี้เพื่อนๆ "นักออกแบบตกแต่งภายใน" หรือ "สถาปนิกออกแบบภายใน" และ "ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน" ทั้งหลาย อาจมีเคืองผมนิดๆ...ก็เป็น ด้ า ย ย ย(ทำเสียงหลอนๆนิดๆนะครับ)
        มาทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน...บลาๆๆจิปาถะ เจ้าใหญ๋ๆในบ้านเรา ไม่ได้มีแค่สองเจ้านี้นะครับ ปัจจุบันนี้มีคู่แข่งเจ้าดังเพิ่มมาอีกหนึ่งแบรนด์ นั่นคือ Ikea นะครับ รวมรายย่อยลงมาเช่น Homepro บุญถาวร Chic Replubblic  และอื่นๆอีกบ้าง แต่ในรายของสองเจ้าดังข้างต้นนั้น เขามีเน้นให้บริการเสริม(ผมว่ากลายเป็นหลักไปแล้วมั้ง) คือรับออกแบบจัดวางเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ตัวเองให้ด้วย เพียงแค่ท่านนำแบบแปลนพร้อมระยะที่ถูกต้องใกล้เคียงมากที่สุด นำไปจัดวางผ่านโปรแกรม 3D สำเร็จรูป ของเขา แถมยังปรับเปลี่ยนรูปแบบ สีสรรค์ ราคา ให้ท่านได้ตามความพอใจอีกด้วย โดยไม่คิดค่าวางแบบ (Ikea ไม่มีบริการนี้ครับ ณ.ตอนที่ผมเขียนบทความนี้นะครับ)
        อ้าว...ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ต้องพึ่งพา "สถาปนิกออกแบบภายใน" อย่างพวกผมแล้วละสิ?....หุๆ...ช้าก่อนครับท่าน อ่านให้จบก่อนนะครับ มีข้อแตกต่าง ที่ท่านต้องทราบก่อนตัดสินใจนะครับ นั่นคือ ผมแนะนำให้ท่านย้อนกลับไปอ่านทความแรกๆของผมกันก่อนนะครับ ว่ามันต่างกันอย่างไร ในหัวข้อ "จะตกแต่งภายใน ต้องจ้างใครดี" & http://designatelierinterior.blogspot.com/2014/12/blog-post_18.html และในตอนนี้ ผมจะมาให้ข้อมูลเพิ่มเผื่อบางท่าน และหลายๆท่าน น่าจะยังไม่ทราบ
        หลักๆแล้ว (เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว เช่น โซฟา เก้าอี้ เตียง ไม่ใช่ประเด็นนะครับ) ส่วนมากคนรักบ้าน มักจะสับสนในงาน เฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน กันมากกว่า ผมขออธิบายแค่พอประมาณดังนี้นะครับท่าน
        งานเฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน เช่นตู้เสื้อผ้า ตู้เตี้ย ตู้หัวเตียง หรือตู้วางทีวี ที่ทางผู้ผลิตทั้งสองเจ้าใช้สวนใหญ่แล้ว วัสดุที่ใช้เป็นส่วนงานไม้นั้น เป็นไม้ MDF หรือ Particle Board (คือกระบวนการนำเศษไม้ชิ้นเล็กๆมาย่อย บดอัด และผสมกาว ขึ้นรูปด้วยความร้อน) และนำมาปิดผิวด้วยวัสดุต่างๆ เช่นลายไม้ ก็จะเป็นวีเนียร์ลายไม้บางๆ หรือ แผ่นลามิเนตลายไม้ หรือลามิเนตสีสรรค์ต่างๆ ซึ่งในทางการใช้งานนั้นมีข้อดีคือ เนื้องานมีความเรียบร้อย ต้นทุนไม่สูง แต่ข้อเสียคือ จุดที่ยึดติดอุปกรณ์บานพับนั้น หากท่านใช้งานแบบไม่เบามือแล้ว ภายหลังน๊อตสกรู มีอาการหลวม ขันเข้าขันออกบ่อยๆเข้า พาลจะยึดตัวบานตู้ไม่อยู่ หรือบางทีวัสดุปิดผิวมีอาการขอบเผยอได้ หลังผ่านการใช้งานไประยะใหญ่ๆ
        ส่วนงานเฟอร์นิเจอร์ตามสั่งจากผู้รับเหมางานทั่วไปนั้น (ดูรูปภาพประกอบ) จะมีการใช้วัสดุที่เป็นงานไม้ ด้วยการขึ้นโครงตู้ด้วยไม้เนื้อแข็งต่างๆ ตามเกรดราคา แล้วกรุทับด้วยไม้อัดยาง ตามด้วยวัสดุปิดผิว หรือทำสีเคลือบลงบนเนื้อไม้ แล้วแต่ดีไซน์ (แต่ต้องระวังผู้รับเหมาบางรายนะครับ แอบขึ้นงานด้วยวัสดุเดียวกับงานเฟอร์นิเจอร์สำเร็จ เพื่อลดต้นทุนงาน หากท่านไม่รู้) ซึ่งข้อดีคือ งานแบบนี้จะคงทนแข็งแรงกว่า จุดยึดอุปกรณ์ มีความข็งแรง แต่ข้อเสียคือ ต้นทุนราคาที่แพงกว่าไงครับ
        ปัจจัยที่ท่านต้องพิจารณาตัดสินใจ ผมมองว่า "เรื่องงบประมาณ" เป็นตัวตัดสินใจที่สำคัญที่สุดครับ อย่างที่เคยบอกไว้ว่า หากท่านมีงบประมาณราวๆไม่เกิน 4-5 แสนบาท และมองว่าการต้องจ่ายค่าออกแบบในงบประมาณนี้ซัก 3-4 หมื่นบาท เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ และท่านรับได้กับข้อจำกัดข้างต้นของเฟอร์นิเจอร์สำเร็จ ผมยกมือสนับสนุนเลยครับ ให้ท่านไปใช้บริการของทั้งสองเจ้าดัง (อ้อ..ผมลืมบอกไปครับ Koncept เป็นแบรนด์ลูกเกรดรองลงมา ของ SB และ Winner เป็นแบรนด์ลูกเกรดรอง ของ Index ครับ) และแม้ผมเองที่เป็น "สถาปนิกออกแบบภายใน" ยังใช้บริการของทั้งสองเจ้าในบางครั้งบางโอกาสเลยครับ รวมทั้งมีการผสมผสานงานที่ทำให้กับคนรักบ้านบางท่าน เช่น เลือกใช้ครัวสำเร็จ หรือ ชุดตู้เสื้อผ้าบางรุ่น ลงในงาน ส่วนข้อที่ว่าด้อยเรื่องความคงทนนั้น แม้ผมเองยังมีใช้เฟอร์นิเจอร์ของทั้งสองแบรนด์ ด้วยความระมัดระวัง ก็ยังทนใช้ได้มานานหลายๆปีเลยครับ


วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2558

อยากจ้าง Interior Designer ควรเริ่มด้นอย่างไร?


             มี"คนรักบ้าน"หรือคนที่คิดจะจ้าง"สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน"มาออกแบบภายในบ้าน หรือสำนักงาน หรือร้านค้าใดๆของท่าน หลายๆท่านไม่ทราบว่า จะเริ่มต้นอย่างไร..? เมื่อคิดอยากจะตกแต่งบ้าน (ท่านที่ยังไม่ได้อ่านบทความของผมในเรื่อง ความแตกต่างของประเภทผู้รับงาน"ออกแบบตกแต่งภายใน" ผมขอให้ย้อนกลับไปอ่านทำความเข้าใจก่อนนะครับ)
http://designatelierinterior.blogspot.com/2014/12/part-1.html http://designatelierinterior.blogspot.com/2014/12/part-2.html http://designatelierinterior.blogspot.com/2014/12/part-3.html
             หลายท่านเริ่มแบบไม่รู้อะไรเลย คือยังไม่รู้ความชอบของตัวเอง ยังไม่รู้ว่าตัวเองและสมาชิกในบ้าน ชอบหรือต้องการอะไรบ้าง แต่เรียก "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" มาคุยเลย ตรงนี้ต้องบอกว่าผิดขั้นตอนนะครับ ที่ควรจะเป็นคือ
          อันดับแรกเลย....ต้องเริ่มต้นที่หาความชอบในสไตล์งานตกแต่งภายในที่ตัวท่านๆทั้งหลายชอบก่อน 
หาอย่างไรหรือครับ..? ก็หาซื้อหนังสือเกี่ยวกับงานตกแต่งบ้าน ตกแต่งภายในทั้งหลายมาดู หรือเดี๋ยวนี้ก็มี Application เกี่ยวกับรูปภาพงานตกแต่งภายในเช่น app "Houzz" หรือคุณแค่พิมพ์หาคำว่า "Interior Design" ในช่องค้นหา app เสร็จแล้วคุณชอบภาพไหน ก็คั่นหน้านั้นไว้แถมด้วยการโน๊ตไว้สักหน่อยว่า คุณชอบอะไรในนั้น เช่น สีสรรค์ รูปแบบเฟอร์นิเจอร์ (ไม่ต้องกังวลนะครับบางท่านอาจไม่แน่ใจว่า ชอบอะไรในนั้น คั่นๆไว้ก่อน) ขั้นตอนนี้ทำเพื่อเอาไว้คุยกับ "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" เพื่อค้นหาสไตล์งานของท่านไงละครับ

          อันดับถัดมา...สำรวจงบประมาณ หรือกระเป๋าเงินของท่านก่อนว่า ท่านจ่ายได้ หรืออยากจ่ายเท่าไรในงบตกแต่งภายใน โดยยังไม่รวมค่าออกแบบตกแต่งภายใน ปกติค่าออกแบบงานตกแต่งภายใน ถ้าเอามาตรฐาน "สมาคมนักออกแบบตก แต่งภายใน" หรือ http://www.tida.or.th/index.html ก็จะอยู่ที่ประมาณ 10% ของงบประมาณการตกแต่งภายใน (รายละเอียดตรงนี้ จุกจิก และขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทั้งของท่านเจ้าของงานเอง และผู้รับงานเอง  %จึงมากน้อยไม่เท่ากันเสมอไป) มากน้อยท่านต้องคุยลงรายละเอียดกับผู้รับงาน เอามาเปรียบเทียบกันในแต่ละเจ้า แต่พอมีเกณฑ์วัดได้ว่าท่านสมควรจ้าง "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" หรือไม่คือ (ตรงนี้เป็นข้อสังเกตุส่วนตัวผมเลยนะครับ) แบบขั้นต่ำๆเลยครับ ถ้าท่านมี งบประมาณตกแต่งภายใน เช่น 5 แสนบาทแล้วท่านอาจจะต้องจ่ายค่าออกแบบสัก 3หรือ4หมื่นบาท แล้วท่านยังรู้สึกว่าแพงรับไม่ได้ นั่นแหล่ะครับ ท่านควรเบนเข็มไปหา ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน หรือไม่ก็ไปเดินตามห้างพร้อมแบบแปลนในมือท่าน ใช้บริการของ ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ตามห้างดังนั้นๆจะเหมาะกว่าครับ (ผมแนะนำโดยความสุจริตใจจริงๆนะครับ)
           อันดับต่อมา...ท่านต้องเริ่มค้นหา "Profile งานออกแบบตกแต่งภายใน" ของ "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" ที่ท่านสนใจ หรือกำลังมองหา เช่นการ Search หาใน อากู๋ Google ครับพิมพ์คำว่า "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" ลงในช่องค้นหาเลยครับ แล้วท่านก็เข้าไปสำรวจดูว่า ท่านชอบงานที่เขาออกแบบไว้มั๊ย คัดกรองไว้ในลิสต์ซัก สามสี่ห้าเจ้าก็ได้ครับ แล้วท่านก็ติดต่อไปเพื่อพูดคุยในรายละเอียดงานความต้องการของท่าน กับผู้รับงาน ให้เขาเสนอรายละเอียด วิธีการทำงาน การคิดค่าใช้จ่ายงานออกแบบมาแล้วท่านลองเปรียบเทียบ เลือกดูว่าท่านพอใจเจ้าไหน ค่อยจรดปากกาเซ็นว่าจ้างกัน
          จุดสำคัญ...คือตรงนี้ละครับ!!!! มีเทคนิกในการเสนองานที่แตกต่างกัน ในเงื่อนไขการคิดค่าออกแบบ (ลองย้อนกลับไปอ่านบทความที่ผมเคยเขียนไว้ตอนแรกๆดูนะครับ) และผมเคยเห็นมีผู้ตั้งกระทู้ถามในเว็บ Pantip ว่า มีบางบริษัทผู้รับงานออกแบบ ตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าเรียกไปพูดคุย แล้วจะต้องมีการวัดพื้นที่หน้างานเพื่อไปประเมิณค่าใช้จ่ายในการออกแบบ จะต้องเสียค่าบริการเบื้องต้นนี้ด้วย ณ.จุดนี้...ผมคงต้องแล้วแต่จะพิจารณาละครับ ไม่ได้มีกำหนดไว้ตายตัว นานาจิตตัง เพราะทั้งหมดทั้งปวงขึ้นอยู่ที่วิจารณ์ญาณส่วนตัวจริงๆครับ ถ้ารู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ อย่าไปรับครับ และถ้ารู้สึกว่ากำลังเอาเปรียบ ก็อย่าทำครับ (555 จริงๆคนเอาเปรียบมักจะอ้างว่า ไม่รู้ตัวนะครับ)