วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ทำไม? ต้องจ้าง "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน"

          ผมเชื่อว่า ใครที่ทำงานสายงานออกแบบตกแต่งภายใน หรือว่า อาชีพ"มัณฑนากร" หรือ "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" Interior Designer คงต้องเคยเจอสถานการที่ เจ้าของบ้าน เจ้าของงาน ที่ไม่ยอมเข้าใจเรื่อง ค่าจ้างงานออกแบบว่า ทำไมต้องมี? ทำไมต้องจ่าย? ค่าแบบแพงจัง กระดาษแค่ไม่กี่ใบ?  ฟังดูแล้วปวดใจ ปวดตับเป็นอย่างยิ่งนะครับ ล่าสุด...ผมเจอคุณหมอหนุ่มท่านหนึ่ง ดูแล้วเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งน่าจะเข้าใจในเรื่องค่าจ้าง ค่าตัวในสายอาชีพที่มีค่าตัวแพงได้อย่างดี คุณหมอท่านบอกว่า "ผมไม่ยินดีจ่ายหรอก ค่าออกแบบ ถ้าอยากได้งานก็ ทำแบบเสร็จก็เสนอราคามาเป็นงานรับเหมาเลย ตกลงหรือไม่ว่าจะทำหรือไม่ทำ ก็ที่ตรงนั้น"
          ฟังดูเหมือนว่าชัดเจนดีนะครับ แต่...แทบอยากเลิกทำอาชีพนี้กันเลยทีเดียว ท่านรู้หรือไม่ว่า อาชีพนี้ ถ้าเป็นในหลายๆประเทศ ที่เจริญแล้ว เขาคิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันแรกที่ท่าน เรียกเขาไปปรึกษาพูดคุยเป็ยรายชั่วโมงแล้วนะครับ เฮ้อ...เข้าเรื่องดีกว่าครับ
          ก่อนที่จะจ้าง "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" คงต้องเกริ่นกันก่อนนะครับว่า.....ทำไม? ต้องจ้าง "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" (ตรงนี้ใครอยากเรียน ทำอาชึพนี้ ท่านลองอ่านให้จบ แล้วลองทบทวนตัวเองดูอีกทีนะครับ ว่ายังอยากเป็น หรือทำอาชีพนี้อยู่หรือปล่าว)  ส่วนคุณลูกค้าก็ ขอความเมตตาเห็นใจกันบ้างนะครับ
            -ข้อแรกเลย ก็ท่านทำเองไม่ได้ไงครับ...อ้าวผู้เขียนกวนแล้วไง...จริงๆครับ ถ้าท่านทำเองได้แล้วจะมาจ้างทำไม ใช่มั๊ยครับ ที่จริงคือ จะบอกว่า "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" นั้นกว่าจะจบหลักสูตร Interior Design Architecture มาได้ ก็หลักสูตร 5 ปีนะครับสำหรับบางสถาบัน เช่น ถาปัด ลาดกระบัง (ขอเรียกสั้นๆแนวๆนะครับ)
         -ข้อต่อมา "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" ไม่ได้มีหน้าที่ไปออกแบบภาพงานสวยๆ ลงกระดาษ มาให้ท่านดูแล้วจบนะครับ อันที่จริงแล้ว มีรายละเอียดปลีกย่อยหยุมหยิม มากมาย ถ้าใครเคยสุงสิง กับ "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" จะส่ายหน้าเลยว่า..อึดเนอะ!!! และบางงานที่เป็น Commercial ในการออกแบบยังต้องคำนึงถึงผลทางการตลาด ทางธุรกิจ ควบคู่การออกแบบไปด้วย เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจ ดึงดูดลูกค้าของท่านอีกตะหาก

         ทีนี้ลองมาดู Step งานคร่าวๆนะครับว่ามีอะไรบ้าง เช่น
         -เช็คพื้นที่งานออกแบบ โดยละเอียดทุกซอกทุกมุม เพื่อนำมาขึ้นแบบแปลน วางผังตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ให้ท่านดู
         -พูดคุย หา Theme Concept งานกับท่านด้วยรูปภาพตัวอย่างงานที่ต่างๆเพื่ปรับจูนความชอบของท่านให้เข้าใจว่าท่านต้องการรูปแบบงานแบบไหน สไตล์ไหน ถูกแพงยังไง จะได้ไม่เกินความต้องการ
         -ขึ้นแบบแปลนงานทั้งหมด ว่าตรงไหนเป็นอะไร ผิด ถูก จะได้ปรับแก้กันไปก่อนที่จะไปขั้นตอนต่อไป
         -เขียนภาพงาน 3D Perspective (รูปทัศนียภาพ งานตกแต่งภายใน) แสดงรายละเอียดเกือบทุกซอกทุกมุม แสดงสี รูปแบบงาน บรรยากาศเสมือนจริง (สมัยก่อน งานแบบนี้เขียนด้วยมือ 100% คิดดูว่าลำบากลำบนขนาดไหน บางงานแก้ไขกันทีแทบลมจับ) ซึ่งห้องนึง บางทีก็ต้องเขียนให้ดู 2-3 มุม บางบ้านทั้งงานเียนแทบสิบรูป
         -เลือกหาวัสดุอุปกรณ์ ที่ใช้ในงานมานำเสนอ เช่น ต.ย.ผ้าม่าน ผ้าบุเฟอร์ ต.ย.ไม้ ต.ย.Wall Paper สี กระเบื้อง (ผมเจอบ่อยครับ พาท่านเจ้าของงานไปสรุปเลือกกระเบื้องที่ร้านบุญถาวร ทั้งวันยังไม่จบก็มีครับ) สุขภัณฑ์ โคมไฟ ปลั๊ก มือจับประตู มือจับเฟอร์นิเจอร์ บลาๆๆ (มีอีกเยอะครับ)
         -เขียนแบบแสดงรายละเอียด แบบขยาย (Working Drawing) แสดงรายละเอียดของงานทั้งหมดที่เกิดขึ้น สำหรับให้ผู้รับเหมางาน ใช้ตีราคางาน และประกอบการทำงาน บางงานแบบหนาขนาดกระดาษ A3 เป็นร้อยกว่าหน้าขึ้นไป
         -ทำลิสต์รายการงาน ประกอบแบบเสนอราคา (B.O.Q) มี "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" บางท่านไม่ทำให้ ซึ่งตรงนี้ ขอบอกเลยครับว่า แล้วท่านเจ้าของงาน จะเทียบราคาแต่ละผู้รับเหมางานได้ยังไง เพราะถ้าให้ผู้รับเหมางานต่างคนต่างเสนองานมา กระจายละครับ
         -ได้ราคางานรับเหมามาแล้ว ต้องร่วมตรวจสอบรายละเอียด พิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมางาน กับเจ้าของงานอีก
         -ได้ผู้รับเหมางานมาทำงานแล้ว ต้องคอยเข้าหน้างาน มาดูแล ตรวจสอบการทำงาน คุณภาพงาน สเป็คงาน ความคืบหน้างาน เป็นระยะๆ (ผมเคยเจอบางงาน บ้านขนาดใหญ่ย่อมๆ กว่าจะจบงานได้ โดนไปสามปี ก็เคย แต่ที่ควรจะเป็น มีตั้งแต่ 4เดือน ถึง 1ปี) แต่ตรงนี้อย่าเข้าใจผิดนะครับ คือไม่ได้เป็นโฟร์แมนควบคุมงานนะครับ ตรงนี้เป็นหน้าที่ในส่วนของผู้รับเหมางานครับ แต่ถ้าเป็นงานเล็กๆ ส่วนใหญ่โฟร์แมนก็มักจะเป็นหัวหน้าช่างที่ทำงานอยู่ในไซต์งานละครับ
         -และระหว่างการทำงาน..เจ้าของงานก็มักจะมีเรื่องให้ทำงานเพิ่มครับ เช่น....ช่วยออกแบบตรงนั้นตรงนี้เพิ่มให้หน่อย ขอแก้ตรงนั้นตรงนี้หน่อย..งานงอกแต่คิดตังค์ไม่ได้นะครับส่วนใหญ่..เงิบไป
         -และเพื่อความสวยงามต่อเนื่อง ก็ต้องไปช่วยเลือกของแต่งบ้าน ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ลอย โคมไฟ รูปภาพ ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทราย ต้นไม้ใหญ่ (เพ้อเจ้อแล้วครับ สองอย่างหลังนี่ แต่เคยนะครับเลือกต้นไม้ให้นี่ทำเป็นเล่นไป) จริงๆ
         -หลายครั้งนะครับ ที่เจ้าของงานไปเอาผู้รับเหมางานที่คิดว่าราคาโดนใจ มารับงานโดยไม่ให้ ดีไซน์เนอร์ร่วมตัดสินใจตรวจสอบ หรือเตือนแล้วก็ยังยอมเสี่ยง ผลคือไม่คุ้มเลยครับ พากันปวดหัว เครียด งานลากยาวกันเป็นปี แถมได้งานห่วยไม่สมราคา แต่ต้องทนอยู่กับบ้านหรืองานนั้นไปตลอด บางบ้านจ่ายไปเป็นหลักเจ็ดแปดเก้าล้านก็มี ดีไซน์เนอร์โดนหางเลขไปด้วย ค่าแบบไม่เหลือพอค่าน้ำมันยังเคย....เศร้าครับ

         สรุป....ใครที่เคยบอกว่าค่าแบบแพงจัง กระดาษไม่กี่แผ่นเอง หวังว่าอ่านจบแล้ว ท่านคงพอเห็นในความจริงของคนทำงานบ้างนะครับ  ใครที่อยากทำอาชีพนี้ อยากเรียน ท่านลองถามตัวเองดูก่อนนะครับ ว่า....ท่านรับได้กับงานจุกจิก ลงรายละเอียดเยอะๆ และต้องอยู่กับอารมณ์คนอื่นๆ(ลูกค้า)ไปแบบต่อเนื่อง และอาจจะยาวนาน ไหวมั๊ยครับ หลายๆคนต้องกล้ำกลืนฝืนทน กับการรับงานค่าแบบถูกแสนถูก บ้างก็โดนโกงค่าออกแบบก็มี ถ้ารับได้......ยินดีต้อนรับครับ มาร่วมชะตากรรมกัน เอวังชาวเรา สถาปนิก นักออกแบบตกแต่งภายใน ทั้งหลาย
If U want to see Sketchup Animation pls follow at 
ใครอยากดูแบบภาพเคลื่อนไหว Sketchup Animation งาน Interior ก็ที่นี่ครับ
Youtube Chanel: DAtelier Interior 
https://www.youtube.com/channel/UC2a_qS46gAISkLJ1byl5Y5A?view_as=subscriber
IG: datelier_interior

2 ความคิดเห็น: