My Interior Design Blog U Can Visit My Port Folio At IG: datelier_interior or for Animation at Youtube: DAtelier Interior
วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
จ้าง"ผู้รับเหมางาน ตกแต่งภายใน" ต้องรู้อะไรบ้าง?
ปกติแล้ว ถ้าคุณจ้าง"นักออกแบบตกแต่งภายใน" ทำงานออกแบบให้ เขาก็มีหน้าที่ต้องคอยตรวจเช็คความถูกต้องของงานให้แทนท่านอยู่แล้วนะครับ ดังนั้น ในกรณีที่คุณจ้าง "ผู้รับเหมางานตกแต่ง" เป็นผู้ออกแบบและรับเหมาให้ หรือ ชี้สั่งเอาตามแบบรูปภาพที่คุณอยากได้ แล้วให้ผู้รับเหมาใช้ความสามารถมโนตามที่คุณอยากได้ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น อาจจะมีคำถามว่า...ต้องรู้อะไรบ้าง? ในการตรวจสอบงานของผู้รับเหมา หรือก่อนที่จะว่าจ้างกัน
ข้อแรก.รายละเอียดในการเสนอราคางาน ควรที่จะมีการแจกแจงรายละเอียดของงานในแต่ละรายการ เช่นประเภทงาน ปริมาณงาน ไม่ควรเหมารวมไปซะทุกรายการ(Lumpsum) ลองกลับไปอ่านบทความเก่าที่นี่นะครับ http://designatelierinterior.blogspot.com/2015/02/boq-bill-of-quantity.html
ข้อที่สอง.สัญญาว่าจ้าง ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรที่จะมีนะครับ แม้ว่าบางทีจะไม่คุ้มที่จะนำไปเป็นคดีความกันในภายหลังก็ตาม และควรจะมีระบุเวลาเสร็จสิ้นส่งมอบงาน ข้อปรับการผิดนัดส่งมอบงาน (แต่ตรงจุดนี้ การร่างสัญญา ก็ไม่ควรเอาเปรียบกันและกันนะครับ) ทุกครั้งที่มีการแก้ไขงาน หรือมีผลกระทบกับการทำงาน ทั้งสองฝ่ายควรทำ"บันทึกช่วยจำ" ให้รับทราบว่ามีผลกระทบกับเวลาการทำงานกี่มากน้อยก็ว่ากันไปครับ และงวดการชำระเงินควรจะระบุลงไปว่า ในแต่ละงวด จะต้องชำระเท่าใดในปริมาณงานอะไรบ้าง แค่ไหน (ตรงนี้ บางครั้งรายการทำงานจริงอาจจะไม่แป๊ะๆ อาจมีการเหลื่อมประเภทงานกัน ท่านต้องยึดหยุ่นกันบ้างตามควรนะครับ) และการเข้าทำงานในคอนโด หรือบางหมู่บ้าน มักจะต้องมีค่าประกันกับทางนิติบุคคลคอนโด หรือหมู่บ้าน ตรงนี้ใครรับผิดชอบ ตกลงกันให้ดีครับ
ข้อที่สาม.สัญญาว่าจ้าง ควรที่จะระบุสเป๊คของวัสดุอุปกรณ์มาตรฐานเอาไว้ว่า ใช้ของยี่ห้ออะไร เช่นอุปกรณ์ฟิตติ้งทั้งหลาย วัสดุอุปกรณ์อะไรที่ รวม หรือไม่รวมในราคา แบบมือจับเฟอร์นิเจอร์ท่านควรเห็นแบบก่อนที่จะติดตั้ง เพราะมีหลายราคามาก ตั้งแต่หลักสิบ จนถึงหลักพันต่อชิ้น และเลือกแบบผิดนี่ งานจบไม่สวยเลยครับ (รายละเอียด ให้กลับไปอ่านหน้านี้ครับ http://designatelierinterior.blogspot.com/2015/01/blog-post.html )
ข้อที่สี่.การเข้าทำงานในพื้นที่ของช่าง ข้อนี้ตกม้าตายกันมาเยอะแล้วครับ ทำไมนะเหรอครับ? บ้านหรือคอนโดที่เราซื้อมาใหม่ มักจะมีพื้นไม้หรือกระเบื้อง หรือหิน และผนัง ทาสีบ้าง ติดWall Paper บ้างอย่างสวยงาม อีกทั้งห้องน้ำสุขภัณฑ์ราคาถูกบ้างแพงบ้าง เมื่อมีการทำงานช่างในพิ้นที่ใด แล้วไม่มีการป้องกันพื้นที่ให้ดี ความเสียหายมักจะตามมาครับ การทะเลาะเบาะแว้งจึงเกิดขึ้น!!! ทีนี้เข้าใจรึยังครับ พลาสติก กระดาษลูกฟูก ไม้อัด สามสิ่งนี้จึงถูกนำมาใช้ปกป้องพื้นที่ครับ แต่ปกติแล้ว หากไม่ค่อยตรวจสอบ ทำงานไปเรื่อยๆ การปกป้องก็จะเริ่มหละหลวมครับ (ถ้าช่างรับงานราคาท่านถูกมากกกก ข้อนี้อาจมีบ่ายเบี่ยงเกี่ยงงอน หรือทำแบบผักชีโรยหน้าครับ ขอเตือน) และก่อนที่จะเริ่มงานควรที่จะมีการนัดกันตรวจมอบพิ้นที่กัน ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานให้เห็นกันไปเลยครับ ตรงไหนมีตำหนิมีปัญหา รับทราบกันไว้ทั้งสองฝ่าย (ไม่ควรละเลยทั้งท่านเจ้าของบ้าน และท่านผู้รับเหมางานนะครับ)
ข้อที่ห้า.การตรวจสอบงานระหว่างช่างเข้ามาทำงาน ท่านควรเห็นตั้งแต่โครงไม้ที่ใช้ขึ้นโครงตู้นะครับ ทาน้ำยากันปลวกหรือไม่ เกรดของไม้โครงเป็นไปตามที่ระบุไว้หรือไม่ ช่างเข้ามาทำงานกี่คน สัดส่วนเหมาะสมกับปริมาณงาน และเวลาที่รับจ้างหรือไม่
ข้อที่หก.ขั้นตอนการทำสีเฟอร์นิเจอร์ ตรงนี้เป็นเรื่องยากเพราะต้องรู้ขั้นตอน แต่อย่างน้อยท่านต้องดูและพิจารณาว่า การทำสีเรียบเนียน ลูบแล้วสากมือมากน้อย เรียบเนียนแค่ไหน รับกันได้ที่จุดไหน
ข้อสุดท้าย.การตรวจรับมอบงาน เช็คดูการเปิดปิดของอุปกรณ์ต่างๆ ลื่น สะดุดหรือไม่ งานสีเรียบลื่นถูกใจหรือไม่ มีตำหนิรอยถลอกตรงไหน หน้าบาน หลังบาน บนล่าง ใต้ตู้หลังตู้ ขอบชั้นไม้ โดยรอบ จุดซ่อนเร้นต่างๆ ที่มักจะละเลยไม่ทราบกัน และการส่งมอบพื้นที่ทำงาน มีอะไรเสียหายหรือไม่ ฝ้าเพดาน ผนัง พื้น ประตู หน้าต่าง ห้องน้ำ ท่องไว้ครับ ต้องตรวจสอบ
จบแล้วครับ ที่จริงมีรายละเอียดเยอะกว่านี้นะครับ เอาแค่นี้พอให้ปวดหัวกันเล่นละกันครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ตอบลบ