วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2558

"ผู้รับเหมาตกแต่งภายใน" คัดเลือก อย่างไรดี?

         มีคำถามจากท่าน เจ้าของบ้าน เจ้าของงาน ที่ผมออกแบบตกแต่งภายในให้แทบทุกงาน ถามว่า "จะพิจารณาคัดเลือก ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน อย่างไร ในกรณีที่ไม่คุ้นเคยใช้งานกันมาก่อน" ...เอ่อคำถามนี้ผมเชื่อว่าโดนใจหลายๆท่าน คงต้องหูผึ่ง เอียงหูมาฟังกันบ้างละครับ งั้นมาดูกันครับ
         ปกติแล้วถ้าท่านเจ้าของบ้าน ว่าจ้าง"นักออกแบบตกแต่งภายใน"ให้ทำงานให้แล้ว กระบวนการคัดเลือก"ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน" จะต้องผ่านขั้นตอนการรับแบบตกแต่งภายใน และมีเอกสารประกอบการคิดราคางานให้ใช้ลงรายการเสนอราคาที่เรียกว่า "B.O.Q  หรือรายการปริมาณงาน(Bill Of Quantity)" (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ตามลิ้งค์นี้ครับhttp://designatelierinterior.blogspot.com/2015/02/boq-bill-of-quantity.html)หลังจากที่ผู้รับเหมา(ปกติควรมี3-4เจ้า และไม่ควรมากไปกว่านี้นะครับ)ส่งราคางานกลับมาให้ ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานเอกสารเดียวกันที่ให้ไปนะครับ กระบวนการพิจารณาคัดเลือกก็จะเริ่มที่ตรงนี้ ซึ่งหลักการนี้ท่านเจ้าของบ้านที่ไม่ได้ว่าจ้าง"นักออกแบบตกแต่งภายใน" ก็สามารถนำไปใช้ได้นะครับ แม้ว่าจะไม่ได้เทียบเท่าการใช้นักออกแบบก็ตาม มาเริ่มกันทีละข้อครับ
       1.ให้ดูจากความใส่ใจในการทำงานตั้งแต่เมื่อได้รับแบบเสนอราคาไปครับ ว่ามีFeedback อย่างไร ใส่ใจสอบถาม หรือมีประเด็นสอบถามเพิ่มเติมมามากแค่ไหน (ข้อนี้ส่วนใหญ่ "นักออกแบบตกแต่งภายใน" จะทราบครับ แต่ถ้าแบบงานไม่ยุ่งยากซับซ้อนมาก ก็อาจจะไม่มี Feedback กลับมาครับ) บางงานก็ควรมาดูสถานที่จริงที่จะต้องทำงานครับ เพื่อประเมิณหน้างานว่ามีความยากง่าย และเผื่อมีอะไรตกหล่นจากแบบที่ต้องคิดราคางาน และความตรงต่อเวลาในเวลาที่นัดหมายให้ส่งราคางาน หากช้ามากไปกว่าที่นัดหมายมากนี่ ผมเพ่งโทษไว้อันดับแรกเลยครับ
        2.ใบเสนอราคางานที่ส่งกลับมา มีความถูกต้องตามที่ให้ไปมากน้อยแค่ไหน อย่าไปหลงกับตัวเลขราคาที่ถูกแสนถูกใจท่านนะครับ เพราะมีหลายๆอย่างที่ยังต้องพิจารณาประกอบ (ข้อสังเกตุ ส่วนมากแล้วผู้รับเหมางานตกแต่งภายในที่ดี มักจะเสนอมาละเอียดกว่ารายการที่ให้ไปอีกครับ) นำรายการราคาทุกเจ้ามาเปรียบเทียบกันทุกๆรายการ ทีนี้ท่านจะเห็นความแตกต่าง ตกหล่น มาเพื่อตั้งคำถามกลับไปครับ 
       3.ปกติแล้วถ้ามีเจ้าไหนเสนอราคามาโดดจากเจ้าอื่น ไม่ว่าจะถูกกว่าหรือแพงกว่ามากๆ อย่าเพิ่งด่วนเลือกหรือตัดออกนะครับ แต่เป็นข้อสังเกตุว่า ให้พิจารณาให้มากๆว่าเพราะอะไร เช่นถ้าถูกมากๆ อาจมีการเสนอราคาตกหล่น หรือบิดเบือนทางเทคนิค หรือปริมาณจำนวนไม่ถูกต้อง กลับกันเจ้าที่แพงมากไปก็เช่นกันครับ อาจคิดจำนวนผิดพลาดมากเกินไปได้ครับ
        4.เมื่ิอได้ข้อสรุปเรื่องราคาแล้ว ตรงนี้สำคัญที่สุดคือ ท่านควรจะไปดูผลงานของทุกๆเจ้าที่เสนอราคางานมาว่า งานที่เขากำลังทำอยู่ที่อื่นผลงานเป็นอย่างไร และควรจะเป็นงานที่มีรูปแบบที่มีลักษณะ ประเภทงานที่เทียบเคียงกันได้นะครับ เช่นบ้านท่านเป็นแบบงานโมเดิร์นงานสีพ่น ท่านก็ควรจะเห็นงานแบบเดียวกัน ถ้าไม่มีจริงๆถึงพิจารณาเทียบเคียงไป และสิ่งที่ต้องไปดูคือ
        -งานไม้ การแบ่งช่องไฟระยะห่างของบานแต่ละบานไม่ห่างจนหมดสวยมีความสม่ำเสมอสวยงาม การต่อไม้ชนไม้ มีรอยต่อที่ราบลื่นไม่สดุ้ง หลายเจ้าเสนอราคางานมาถูกมักสอบตกข้อนี้ครับ
      -งานสีถ้าเป็นสีพ่นที่เสร็จแล้ว ลูบดูแล้วต้องเรียบเนียนไม่สากมือ มองดูไม่เห็นร่องรอยหลุมร่องของงานไม้แต่แต่นิดเดียว ถึงจะเรียกว่างานสีพ่นเต็มเสี้ยนไม้ 
      -งานสีที่เป็นสีงานไม้โชว์ลายไม้ ลูบแล้วก็ต้องไม่สากมือมีความลื่นมือ เพียงแต่ว่ายังเห็นว่าเป็นไม้โชว์ลาย หากเป็นงานเท็คนิคที่ไม่ลงเต็มเสี้ยนไม้จึงจะเห็นว่ามีร่องเสี้ยนไม้ยุบลงไปในเสี้ยนเล็กน้อย
     -หน้างาน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากแค่ไหน การจัดวางกองวัสดุ เครื่องไม้เครื่องมือ ขณะทำงาน การปูวัสดุปกป้องพื้นที่ที่ทำงาน เช่นพื้นเดิม มีการปูไม้อัด หรือกระดาษลูกฟูกรองป้องกันไว้หรือไม่ มีการเอาวัสดุคลุมปกป้องอุปกรณ์สุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำไว้ดีหรือไม่ ภาพเหล่านี้บอกได้ครับถึงเรื่องการบริหารจัดการหน่วยงาน
    5.หากเป็นไปได้ท่านควรแอบสอบถามจากเจ้าของบ้านที่ไปดูหน้างาน ถึงความพึงพอใจที่มีต่อผู้รับเหมารายนั้นๆ รวมถึงความตรงต่อเวลาในสัญญาการทำงานที่ตกลงกันไว้แต่แรก
    6.ถ้างานของท่านเป็นงานที่ใหญ่และมีปริมาณงานมากๆ ผมแนะนำให้ท่านไปสำรวจถึงที่ทำงาน โรงงาน ของผู้รับเหมางานด้วยยิ่งดีเลยครับ แต่ถ้างานท่านเล็กๆ ท่านอาจได้ผู้รับเหมาที่มีโรงงานแบบห้องแถวหรือเรือนสังกะสี อันนี้ก็แล้วแต่ท่านจะพิจารณานะครับ ใช่ว่าจะไม่ดี ที่ดีก็มีครับ
       บทสรุปคือ หลักเกณฑ์เหล่านี้คงไม่ตายตัว100% แต่พอใช้เป็นเกณฑ์เลือกตัดสินใจได้ดีกว่าไม่มีหลักนะครับท่านเจ้าของบ้าน เจ้าของงานทั้งหลาย โชคดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น