วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

"มาเปลี่ยนโฉมร้านอาหารเก่า ด้วยไอเดียประหยัดงบกันครับ"

       
               ผมมีงานร้านอาหารไทยอยู่ชิ้นหนึ่งที่พึ่งทำเสร็จเมื่อเร็วๆนี้ครับ โจทย์ของงานนี้คือ...? ขอลงทุนน้อยหน่อย แต่ทำให้ดูดี ไม่ต้องหรูหรา กลัวลูกค้าไม่กล้าเข้าร้าน มีโต๊ะเก้าอี้ของเดิมอยู่แล้วจากอีกร้าน ขอนำมาใช้งานด้วย และนี่คือเจ้า Furniture ชุดที่ว่าครับ
       ส่วนสภาพร้านเดิม เป็นตึกแถวเก่าๆหน่อย อยู่ย่านถนนเจริญนคร เดิมทีเป็นร้านขายติ่มซัมครับ มาดูสภภาพเดิมกัน
      สีชมพูหวานแหววดีจริงๆเลยครับ เพดานเป็นโครงพื้นไม้ของชั้นบน ทาสีขาว น่าจะคงไว้ได้ แต่พื้นและผนังที่กรุกระเบื้องไว้สภาพไม่น่าเอาไว้แล้วครับ
     มุมนี้มองย้อนออกไปหน้าร้าน จะเห็นชุดอลูมิเนียมประตู สภาพเก่าไม่หน้าใช้งานแลดูเป็นสำนักงานมากกว่าร้านอาหาร เห็นทีต้องเปลี่ยนครับ
     มาเริ่มงานออกแบบกันเลยครับ Concept ที่วางไว้แต่แรกอย่างที่บอกครับ ง่ายๆและประหยัด ไม่เน้นหรู เอาแค่ดูสะอาดสวยงามน่านั่ง ภาพจึงออกมาเป็นแบบนี้ครับ
     เปลี่ยนแผงด้านหน้ายกเซ็ทเลยครับ ตั้งแต่พื้น ผนัง ประตู เพดาน กั้นแผงไม้เทียมสีขาว บังร้านข้างๆซักนิด เน้นด้านหน้าร้านด้วยซุ้มกรอบลายไม้
     เลือกกระเบื้องปูพื้น และผนังใหม่ ทาสีผนังแบบสีสกิมโค๊ด ตัดขอบเสาและคานด้วยสีน้ำตาลเข้ม ส่วนเพดานคงของเก่าไว้แต่ทาสีใหม่ ห้อยด้วยไฟโชว์หลอด LED สายไฟสีดำโชว์ความง่ายๆนิดนึง
    จัดไปกับมุมเคาน์เตอร์แคชเชียร์และกาแฟสดใต้บันได ด้านหลังเป็นโซนห้องน้ำ และครัว เหนือตี่จู้เป็นแผงระแนงไม้ไผ่ลำเล็ก
    มุมนี้มองจากหลังเคาน์เตอร์ไปหน้าร้านครับ ทีนี้มาดูหน้างานซักรูปกัน
     ปูกระเบื้องพื้นกับผนังแล้วครับ และรื้องานอลูมิเนียมประตูทางเข้า หน้าหลังเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น ผลงานที่เสร็จแล้วมายลโฉมกันครับ 
      มีข้อสะดุดนิดนึงที่ตัวโคมดาวน์ไลท์สีดำที่เห็น มันใหญ่กว่าที่ต้องเป็น ส่วนงานป้าย และกราฟฟิกมีเปลี่ยนแปลงจากภาพ Perspective ไปบ้าง แต่ก็OKครับ
      มุมเล็กๆหน้าร้าน ไว้ถ่ายรูปโซเชี่ยลกัน ประดับด้วยกล้วยไม้ให้เข้ากับชื่อร้าน Orchid 

      ภายในร้าน ยังไม่ได้แขวนรูปภาพครับ เพราะรีบเปิดร้านก่อน หาไม่ทันครับ ส่วนโคมไฟมีการอัพเกรดขึ้นมานิดนึง เพื่อความเหมาะสม โทนสีโดยรวมเข้มกว่าที่ตั้งใจให้เป็นเกินไปนิดนึง แต่ก็ยังอยู่ในThemeที่ต้องการครับ
      มาดูมุมมองจากด้านหลังกันครับ 
      โดยรวมน่าจะลงงบไปประมาณ 4-5แสนครับ เพราะรื้องานไฟและแก้ไขระบบน้ำ ห้องน้ำ และครัวด้านหลังไปด้วย ใครสนใจตามไปชิมกันได้ที่ร้าน Orchid อยู่ใกล้ๆปากซอยเจริญนคร 17 ได้ครับ
      *Update ล่าสุด ผมแก้ไขรายละเอียดในการนำเสนอเป็น VDO Clipe บน Youtube มาให้ดูกันครับ แบบจะดูสวยขึ้นกว่าเดิม อยากให้เข้าไปดูกันครับ อย่าลืม ชอบกด Like ใช่ก็ Subscribe กันหน่อยครับ
If U want to see Sketchup Animation pls follow at
ใครอยากดูแบบภาพเคลื่อนไหว Sketchup Animation งาน Interior มากกว่านี้ก็ที่นี่ครับ
Youtube Chanel: DAtelier Interior 
https://www.youtube.com/channel/UC2a_qS46gAISkLJ1byl5Y5A?view_as=subscriber
IG: datelier_interior

วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2558

"ผู้รับเหมาตกแต่งภายใน" คัดเลือก อย่างไรดี?

         มีคำถามจากท่าน เจ้าของบ้าน เจ้าของงาน ที่ผมออกแบบตกแต่งภายในให้แทบทุกงาน ถามว่า "จะพิจารณาคัดเลือก ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน อย่างไร ในกรณีที่ไม่คุ้นเคยใช้งานกันมาก่อน" ...เอ่อคำถามนี้ผมเชื่อว่าโดนใจหลายๆท่าน คงต้องหูผึ่ง เอียงหูมาฟังกันบ้างละครับ งั้นมาดูกันครับ
         ปกติแล้วถ้าท่านเจ้าของบ้าน ว่าจ้าง"นักออกแบบตกแต่งภายใน"ให้ทำงานให้แล้ว กระบวนการคัดเลือก"ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน" จะต้องผ่านขั้นตอนการรับแบบตกแต่งภายใน และมีเอกสารประกอบการคิดราคางานให้ใช้ลงรายการเสนอราคาที่เรียกว่า "B.O.Q  หรือรายการปริมาณงาน(Bill Of Quantity)" (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ตามลิ้งค์นี้ครับhttp://designatelierinterior.blogspot.com/2015/02/boq-bill-of-quantity.html)หลังจากที่ผู้รับเหมา(ปกติควรมี3-4เจ้า และไม่ควรมากไปกว่านี้นะครับ)ส่งราคางานกลับมาให้ ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานเอกสารเดียวกันที่ให้ไปนะครับ กระบวนการพิจารณาคัดเลือกก็จะเริ่มที่ตรงนี้ ซึ่งหลักการนี้ท่านเจ้าของบ้านที่ไม่ได้ว่าจ้าง"นักออกแบบตกแต่งภายใน" ก็สามารถนำไปใช้ได้นะครับ แม้ว่าจะไม่ได้เทียบเท่าการใช้นักออกแบบก็ตาม มาเริ่มกันทีละข้อครับ
       1.ให้ดูจากความใส่ใจในการทำงานตั้งแต่เมื่อได้รับแบบเสนอราคาไปครับ ว่ามีFeedback อย่างไร ใส่ใจสอบถาม หรือมีประเด็นสอบถามเพิ่มเติมมามากแค่ไหน (ข้อนี้ส่วนใหญ่ "นักออกแบบตกแต่งภายใน" จะทราบครับ แต่ถ้าแบบงานไม่ยุ่งยากซับซ้อนมาก ก็อาจจะไม่มี Feedback กลับมาครับ) บางงานก็ควรมาดูสถานที่จริงที่จะต้องทำงานครับ เพื่อประเมิณหน้างานว่ามีความยากง่าย และเผื่อมีอะไรตกหล่นจากแบบที่ต้องคิดราคางาน และความตรงต่อเวลาในเวลาที่นัดหมายให้ส่งราคางาน หากช้ามากไปกว่าที่นัดหมายมากนี่ ผมเพ่งโทษไว้อันดับแรกเลยครับ
        2.ใบเสนอราคางานที่ส่งกลับมา มีความถูกต้องตามที่ให้ไปมากน้อยแค่ไหน อย่าไปหลงกับตัวเลขราคาที่ถูกแสนถูกใจท่านนะครับ เพราะมีหลายๆอย่างที่ยังต้องพิจารณาประกอบ (ข้อสังเกตุ ส่วนมากแล้วผู้รับเหมางานตกแต่งภายในที่ดี มักจะเสนอมาละเอียดกว่ารายการที่ให้ไปอีกครับ) นำรายการราคาทุกเจ้ามาเปรียบเทียบกันทุกๆรายการ ทีนี้ท่านจะเห็นความแตกต่าง ตกหล่น มาเพื่อตั้งคำถามกลับไปครับ 
       3.ปกติแล้วถ้ามีเจ้าไหนเสนอราคามาโดดจากเจ้าอื่น ไม่ว่าจะถูกกว่าหรือแพงกว่ามากๆ อย่าเพิ่งด่วนเลือกหรือตัดออกนะครับ แต่เป็นข้อสังเกตุว่า ให้พิจารณาให้มากๆว่าเพราะอะไร เช่นถ้าถูกมากๆ อาจมีการเสนอราคาตกหล่น หรือบิดเบือนทางเทคนิค หรือปริมาณจำนวนไม่ถูกต้อง กลับกันเจ้าที่แพงมากไปก็เช่นกันครับ อาจคิดจำนวนผิดพลาดมากเกินไปได้ครับ
        4.เมื่ิอได้ข้อสรุปเรื่องราคาแล้ว ตรงนี้สำคัญที่สุดคือ ท่านควรจะไปดูผลงานของทุกๆเจ้าที่เสนอราคางานมาว่า งานที่เขากำลังทำอยู่ที่อื่นผลงานเป็นอย่างไร และควรจะเป็นงานที่มีรูปแบบที่มีลักษณะ ประเภทงานที่เทียบเคียงกันได้นะครับ เช่นบ้านท่านเป็นแบบงานโมเดิร์นงานสีพ่น ท่านก็ควรจะเห็นงานแบบเดียวกัน ถ้าไม่มีจริงๆถึงพิจารณาเทียบเคียงไป และสิ่งที่ต้องไปดูคือ
        -งานไม้ การแบ่งช่องไฟระยะห่างของบานแต่ละบานไม่ห่างจนหมดสวยมีความสม่ำเสมอสวยงาม การต่อไม้ชนไม้ มีรอยต่อที่ราบลื่นไม่สดุ้ง หลายเจ้าเสนอราคางานมาถูกมักสอบตกข้อนี้ครับ
      -งานสีถ้าเป็นสีพ่นที่เสร็จแล้ว ลูบดูแล้วต้องเรียบเนียนไม่สากมือ มองดูไม่เห็นร่องรอยหลุมร่องของงานไม้แต่แต่นิดเดียว ถึงจะเรียกว่างานสีพ่นเต็มเสี้ยนไม้ 
      -งานสีที่เป็นสีงานไม้โชว์ลายไม้ ลูบแล้วก็ต้องไม่สากมือมีความลื่นมือ เพียงแต่ว่ายังเห็นว่าเป็นไม้โชว์ลาย หากเป็นงานเท็คนิคที่ไม่ลงเต็มเสี้ยนไม้จึงจะเห็นว่ามีร่องเสี้ยนไม้ยุบลงไปในเสี้ยนเล็กน้อย
     -หน้างาน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากแค่ไหน การจัดวางกองวัสดุ เครื่องไม้เครื่องมือ ขณะทำงาน การปูวัสดุปกป้องพื้นที่ที่ทำงาน เช่นพื้นเดิม มีการปูไม้อัด หรือกระดาษลูกฟูกรองป้องกันไว้หรือไม่ มีการเอาวัสดุคลุมปกป้องอุปกรณ์สุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำไว้ดีหรือไม่ ภาพเหล่านี้บอกได้ครับถึงเรื่องการบริหารจัดการหน่วยงาน
    5.หากเป็นไปได้ท่านควรแอบสอบถามจากเจ้าของบ้านที่ไปดูหน้างาน ถึงความพึงพอใจที่มีต่อผู้รับเหมารายนั้นๆ รวมถึงความตรงต่อเวลาในสัญญาการทำงานที่ตกลงกันไว้แต่แรก
    6.ถ้างานของท่านเป็นงานที่ใหญ่และมีปริมาณงานมากๆ ผมแนะนำให้ท่านไปสำรวจถึงที่ทำงาน โรงงาน ของผู้รับเหมางานด้วยยิ่งดีเลยครับ แต่ถ้างานท่านเล็กๆ ท่านอาจได้ผู้รับเหมาที่มีโรงงานแบบห้องแถวหรือเรือนสังกะสี อันนี้ก็แล้วแต่ท่านจะพิจารณานะครับ ใช่ว่าจะไม่ดี ที่ดีก็มีครับ
       บทสรุปคือ หลักเกณฑ์เหล่านี้คงไม่ตายตัว100% แต่พอใช้เป็นเกณฑ์เลือกตัดสินใจได้ดีกว่าไม่มีหลักนะครับท่านเจ้าของบ้าน เจ้าของงานทั้งหลาย โชคดีครับ

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2558

ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน กับ เจ้าของบ้าน ข้อควรระวัง!!! Part 2/2

        ต่อจากบทความที่แล้วกันนะครับ มาเริ่มกันที่ปัญหาคู่กรณีหลังกันเลยครับ
        2.ปัญหาที่เกิดจาก เจ้าของบ้าน เจ้าของงาน

           -เจ้าของบ้านปรับเปลี่ยน แก้ไขงานบ่อย...แน่นอนครับ ช่างย่อมไม่ค่อยชอบการแก้ไขงาน โดยเฉพาะงานที่ทำไปเยอะแล้ว เพราะบางครั้งงานช้ำ แก้แล้วเก็บงานไม่สวย อีกทั้งบ่อยครั้งที่แก้แล้วเรียกเก็บตังก็ไม่กล้า กลัวโดนหาว่าเคี่ยว ปัญหาการแก้ไขเปลี่ยนใจเปลี่ยนแบบนี่ โดยมากมักเกิดกับท่านเจ้าของบ้านที่ ดูแบบ อ่านแบบไม่ค่อยออก แม้จะเป็นแบบรูปภาพงาน 3 มิติ 3D Perspective ก็ตาม คือ เข้าใจต่อเมื่อเห็นงานจริง มีเยอะนะครับทำเล่นไป
          -เจ้าของบ้าน ขาดความไว้วางใจ ไม่ค่อยมั่นใจตัวเอง หรือมั่นใจในตัวเองมากไป คิดว่าตัวเองรู้มากกว่า เลยพาลขาดความมั่นใจในช่าง และบ่อยครั้งที่ลามมาถึงผู้ออกแบบด้วย อาการนี้สังเกตุได้ว่า เจ้าของบ้านมักแสดงอาการออกมาในรูปแบบ ลังเล โลเล และถามกลับไปกลับมา ถามไปทั่วแม้คนนอกวง ผลเสียของการทำแบบนี้คือ ได้ข้อมูลมาเยอะเกิน จริงบ้าง มั่วบ้าง เพราะบ่อยครั้งที่คนตอบ ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือรู้ไม่จริง ส่งผลให้บางครั้งเกิดอาการจับผิดช่าง จนทำงานยาก เกิดประเด็นให้ได้ทะเลาะกันภายหลัง เรื่องมารยาท ความไว้วางใจในวิชาชีพนี่ ท่านเจ้าของบ้านทั้งหลาย ควรระมัดระวังไว้บ้างก็ดีนะครับ เพราะแม้แต่นักออกแบบเองก็โดนกันบ่อยๆ คือแนะนำอะไรไป มีการเอาไปสอบถามคนอื่น ครั้งหนึ่งที่ผมเคยไปหาซื้อของแต่งบ้านกับลูกค้าผู้มากจะกินท่านหนึ่งในต่างประเทศ ขณะที่อยู่ในร้านขายของสินค้าแบรนด์ดังของยุโรปร้านหนึ่ง ผมได้เลือกของให้ลูกค้าท่านนั้น ปรากฎว่า ด้วยความเคยชินในการบริโภคแบบไทยๆ ท่านได้หันไปถามผู้ขายสินค้าว่า "คุณเห็นว่าเป็นอย่างไร แบบนี้สวยเหมาะมั๊ย" เล่นเอาผู้ขายงง...? และชี้มือมาที่ผมพร้อมกับพูดว่า Your's Designer ส่วนท่านเจ้าของบ้านก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไปชั่วขณะ เงิบกันไปครับ ประมาณว่า จ้างคนออกแบบมาทำไมไม่ถามหล่ะ...อืมมม..นั่นสินะครับ
           -เจ้าของบ้านเข้าหน้างานบ่อยมากกกก...เข้าได้เกือบทุกวัน เคยเจอหรือปล่าวครับ สำหรับผม เจอออกบ่อยครับ เอ..แล้วเกี่ยวอะไรกันละครับ..? คือปกติของท่านเจ้าของบ้าน ก็มักอยากทราบความก้าวหน้าของงาน เห็นคุณภาพงาน ก็ย่อมต้องอยากเข้าไปดูไปเห็นเป็นธรรมดาน่ะครับ ซึ่งส่วนมากก็จะเข้าไปดูไม่แน่ไม่นอน ส่วนมากท่านเจ้าของบ้านมักจะมีภาระกิจทำให้เข้าไปดูงานได้ไม่บ่อยครับ แต่มีท่านเจ้าของบ้านบางท่าน สามารถครับ คือท่านอยู่ใกล้หน้างานมากกก ขนาดเข้าได้ทุกวัน ปัญหาคือ..? ยิ่งเข้าหน้างานได้บ่อยมากเท่าไหร่ ยิ่งเจอปัญหาความไม่ถูกใจ ถูกตา ถูกอารมณ์มากเท่านั้น เพราะผมบอกได้เลยว่า ช่างแรงงานในไทย แม้จะหลายสัญชาติก็ตาม มีพฤติกรรมในการทำงานที่ค่อนข้าง ขัดหูขัดตา เหล่าคนทำงานใช้หัวคิดทั้งหลาย ทำให้ขัดใจพาลทะเลาะอยู่เยอะครับ ประเด็นนี้คงต้องบอกว่า เลี่ยงได้เลี่ยงเถอะครับ ต้องทำใจอย่างเดียวครับถ้าไม่อยากเจอภาพบาดใจ บาดอารมณ์ (ดั่งละครน้ำเสียทั้งหลาย)
           -เจ้าของบ้านเหนียวหนี้ จ่ายเงินล่าช้า ปัญหานี้ส่วนมากมักเกิดกับงาน ตกแต่งภายใน ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร ธุรกิจ ร้านค้า พาณิชย์ทั้งหลายครับ ถ้าเป็นงานบ้านพักอาศัย อาจจะน้อยกว่า แต่ใช่ว่าไม่มีนะครับ ซึ่งการจ่ายเงินล่าช้า ดึงเงิน มักจะพ่วงไปกับงานที่เร่งรีบ เวลาจำกัด ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างให้เจ้าของงาน เจ้าของบ้านใช้เป็นจุดอ่อน ให้ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน เร่งรีบทำงานไปก่อน แล้วหาเหตุจ่ายล่าช้า ไปจนกระทั่งเบี้ยวไม่จ่ายก็มีบ่อยครับ ผู้รับเหมางานตกแต่งภายในจะกลัวกันมากกับเคสแบบนี้ครับ
          เอาคร่าวๆสำหรับกรณีท่านเจ้าของบ้าน เจ้าของงาน ก็มีประมาณนี้ครับ มากกว่านี้เดี๋ยวท่านเจ้าของบ้าน พาลเหม็นขี้หน้า แล้วผมจะลำบากทำมาหากินครับ สวัสดี

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2558

ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน กับ เจ้าของบ้าน ข้อควรระวัง!!! Part 1/2

       ท่านผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน กับ เจ้าท่านของบ้านผู้น่ารักทั้งหลาย  จากประสพการณ์ทำงานในวงการ ออกแบบตกแต่งภายใน อันยาวววนานของผม พบว่า มีข้อพึงสมควรทราบและระวังในการว่าจ้างงานกัน เกิดการมีปัญหาคาใจกัน...บ่อยครั้งที่เกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ กลัวถูกเอาเปรียบ ในกระบวนการงาน ตกแต่งภายใน ของทั้งสองฝ่าย ปัญหาที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ผมขอรวบรวมมาโดยประมาณนะครับ
      1.ปัญหาที่เกิดจาก ช่าง ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน
      2.ปัญหาที่เกิดจาก เจ้าของบ้าน เจ้าของงาน
      มาเริ่มกันที่ปัญหาคู่กรณีแรกกันก่อนเลยครับ
         -ช่างเสนอราคางาน โดยไม่มี "สถาปนิกออกแบบภายใน" ควบคุม คือคุยงานกับท่านเจ้าของบ้านโดยตรง โดยอาจจะไม่ผ่านการออกแบบจาก"สถาปนิกออกแบบภายใน" ผลคือ ช่างชอบเสนอราคางานแบบเหมารวม ไม่แจกแจงรายละเอียด และไม่มีเสป็กงานที่ชัดเจน เมื่อตกลงให้ทำงานไปแล้ว เกิดข้อถกเถียงกันเมื่อภาพงานจริง ไม่เป็นดั่งที่คิด เกิดการขอแก้ไข เปลี่ยนแปลง โดยไม่มีคนกลางที่แก้ปัญหาให้ได้ บ่อยครั้งมีการบ่ายเบี่ยงกันว่า อันนี้รวม อันนี้ไม่รวมในราคางาน
         -ช่างทำงานออกมา ไม่ได้มาตรฐานที่เจ้าของบ้านพึงพอใจ บางทีเสนองานราคาถูกแย่งกัน สุดท้ายช่างอ้างว่าราคาที่เสนอเป็นคุณภาพงานแบบนี้ ถ้าอยากได้คุณภาพดีๆ ต้องอีกราคา (แต่เจ้าของบ้านบางท่านก็ดูไม่ออกนะครับ เรื่องมาตรฐานงานนี่แหล่ะครับ)
          -ช่างทำงานล่าช้า ไม่ตรงตามเวลาที่ตกลงกันไว้ อันนี้ขอบอกว่ายอดนิยมเลยครับปัญหานี้ ปัญหานี้มักเกิดจาก ช่างไม่พอบ้าง ระเบียบวินัยของช่างแรงงานบ้านเราบ้าง ช่างเข้างานสายปกติของช่างเช่น สิบโมงเช้าถึงหน้างาน บ่อยครั้งนะครับที่ ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน ชอบไปรับปากท่านเจ้าของบ้านที่อยากได้งานเสร็จไวๆ ทำให้ได้ตามเวลาที่ต้องการ ผมเจอบ่อยครับ ประเมิณเนื้องานแล้วว่า งานแบบนี้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า หกเดือน แต่ช่างอยากได้งานกลับบอกว่า สามเดือนเสร็จ ปรากฎว่า เสร็จจริงๆครับคือเสร็จช่างครับ หุๆ เลยพาลทะเลาะไม่จ่ายค่าจ้างหาเรื่องเบี้ยวไม่จ่ายช่างไปเลยก็มี โดนกันมาเยอะแล้ว บ้างก็อดทนรอให้ช่างทำจนเสร็จ หักค่าเสียเวลาไป แต่ไม่เคยคุ้มครับ ขอบอก
          -ช่างทำงานแบบด้น ไม่ปรึกษาผู้ออกแบบ อ่านแบบไม่เก่ง อย่านึกว่าไม่มีนะครับ แต่ส่วนมากมักเกิดกับช่างที่ไม่ค่อยได้รับงานผ่านการแนะนำจากผู้ออกแบบ เจ้าของบ้านคัดเลือกมาเอง โดยเห็นว่าราคา ไม่แพง(แปลว่า ราคาถูกครับ) ทีนี้เวลาผู้ออกแบบ ตรวจสอบเจอ บางทีถ้าเบรกไว้ทันก็ไม่มีปัญหา บางทีงานทำไปเยอะ ช่างมักอิดออด เลี่ยงบาลี ผมเจอเองบ่อยครั้งที่หาว่าก็ทำตามแบบอ่ะ พอเอาแบบมาเคลีย ก็นิ่งไป แต่แก้ไขงานบางครั้งมันไม่ทันแล้วครับ งานจะมีตำหนิ และช่างไม่อยากรื้องานทิ้งทั้งชุดหรอกครับ
          -ผู้รับเหมางานตกแต่งภายในรับงานสเกลใหญ่ แต่ขาดโฟร์แมนดูแลงาน อันนี้มักจะก่อให้เกิดปัญหา ช่างทำงานล่าช้า และทำงานผิดพลาดเนื่องจาการอ่านแบบไม่ขาดครับ ต้องคอยแก้ไขงาน งานช้ำ ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน หลายๆราย มักเลี่ยงบาลีโดยการมอบหมายให้หัวหน้าช่างที่ทำงานอยู่หน้างาน เป็นโฟร์แมนไปในตัว ก็ทำได้บ้างครับถ้างานไม่วุ่นวายมาก แต่อย่างที่บอกครับ ถ้างานใหญ่ๆต้อระวังครับ เพราะ โฟร์แมนที่ดี เขาจะมีหน้าที่เหมือนผู้จัดการหน้างาน จัดระเบียบ สั่งของเข้างาน คุมแบบ วางแผน ประสานงานกับ บริษัทเขาครับ
         -ช่าง ชอบไปตอบคำถาม ที่ท่านเจ้าของบ้านถาม โดยไม่รู้กาละเทสะ (ทั้งเจ้าของบ้านเอง และช่าง อันนี้ผมไม่ได้หาเรื่องว่าท่านเจ้าของบ้านนะครับ) งานตกแต่งภายในนี่นะครับ ผมขอแนะนำเลยว่า หากท่านเจ้าของบ้าน มี"สถาปนิกออกแบบภายใน" และ ทีมผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน แล้ว ท่านต้องถามต้องใช้งานให้เป็นนะครับ อย่าไปถามเอากับช่างโดยตรง เพราะเจอมั่วไม่รู้จริง หรือไม่ใช่เรื่องที่เขาควรตอบ ก็บ่อยครับ ถามไปถามมาได้ข้อมูลผิดๆจนเป็นชนวนทะเลาะ ไม่ไว้ใจกันก็บ่อยครับ
         -ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน เบิกงวดงานไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ในรายละเอียด  คือปกติแล้วการเบิกเงินค่างวดงาน มักจะระบุลงไปว่า งวดที่1 จะเบิกเมื่อตกลงว่าจ้าง (ตรงนี้มีหลายๆท่านงง อ้าว..ทำไมตกลงว่าจ้างปั๊บเบิกเงินเลยเหรอ ต้องบอกก่อนว่า ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน ส่วนใหญ่ถ้ารับงานที่ไม่ใช่ของราชการ ต้องเบิกมัดจำก่อนครับ กี่%ก็แล้วแต่จะยอมกันครับ) งวดที่2 จะเบิกเมื่อทำอะไรแล้วเสร็จก็ว่ากันไป...บลาๆๆ ทีนี้โดยส่วนมาก พอทำไปจริงๆไม่เป็นอย่างงั้น ด้วยเหตุทางเทคนิก จึงมักจะเบิกโดยอาศัยงานตรงนั้นมาโปะตรงนี้ บางทีเจ้าของบ้านก็ยอม บางรายก็ไม่ยอม พาลเริ่มไม่พอใจรอเก็บดอกเหตุการณ์ต่อไป ชำระบัญชีครั้งหน้า คือจบไม่สวยครับ
         -ช่าง แอบเอางานที่หน่วยงานอื่น มาทำที่ไซต์งาน (อ้าว...เจ้าของบ้านย่อมแอบเคืองครับ เพราะ เปลืองน้ำ เปลืองไฟ เปลืองเวลา สารพัดเปลือง) เจอบ่อยครับ มากบ้าง น้อยบ้าง เจ้าของบ้านบางท่านใจดี ก็แอบทำเป็นเฉยๆ แต่บางท่านก็เก็บไว้ชำระทีหลัง
         สรุป เอามายกตัวอย่างให้เห็น พอเป็นน้ำจิ้มนะครับ ขอยกยอดไปต่อคราวหน้า กับคู่กรณี คือ ท่านเจ้าของบ้าน เจ้าของงานกันครับ

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

จ้าง "นักออกแบบตกแต่งภายใน" ราคาถูก หรือ ราคามาตรฐานดีครับ?

         คำถามยอดฮิต หรือเรียกได้ว่า เป็นคำถามสามัญประจำบ้านในเว็บบอร์ดงาน "ออกแบบตกแต่งภายใน" ที่ผมมักได้ยินได้อ่านกันบ่อยๆเลยครับคำนี้  ข้อเท็จจริงความเหมาะควรในเรื่องนี้ ถ้าลองเปิดใจคิดตามความเป็นจริง แล้วค่อยๆตัดสินใจก็ไม่สายหรอกครับ
         จ้าง "นักออกแบบตกแต่งภายใน" ราคาถูก ในความเป็นจริงแล้ว ผมว่าคงไม่มี "นักออกแบบตกแต่งภายใน" ท่านใดอยากรับงานในราคาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือถูกเกินความเป็นจริงหรอกครับ เว้นเสียแต่ว่า ทำให้กับคนที่รักชอบพอกัน หรือญาติสนิท มิตรสหายผู้มีบุญคุณทั้งหลาย ดังนั้นถ้านอกเหนือจากนี้ ท่านลองสมมุติว่าถ้าเป็นตัวท่านเองท่านจะรับงานราคาถูกด้วยเหตุผลใดกันละครับ ถ้าไม่ใช่เพราะว่า...ท่านมีความจำเป็นต้องรับงานครับ!! อย่ามโนนะครับว่า อ้าว..ก็ฉันเป็นฟรีแลนซ์ ฉันก็รับถูกได้สิ ฉันไม่มีค่าบริหารจัดการ..บลาๆๆ...ก็ถูกต้องครับ แต่เป็นค่าออกแบบถูกในราคามาตรฐานฟรีแลนซ์ครับ ไม่ใช่ถูกแบบจ้างใครก็ได้ที่อ้างตัวว่าจบสายงานออกแบบตกแต่งภายในมาครับ เพราะไม่เช่นนั้น ค่าออกแบบที่ถูกเหลือเชื่อ มักถูกแลกมาด้วยการลดทอนรายละเอียดในการทำงานให้ท่านลงครับ มีอะไรบ้าง มาดูกันครับ
        1.เริ่มตั้งแต่การตรวจเช็คพื้นที่จริงที่ต้องออกแบบนะครับ ตรวจดูแบบลวกๆ เร็วๆ ขาดความระเอียด มีปัญหาค่อยแก้ทีหลัง ถ้าพื้นที่เล็กๆนี่ยังพอทำหลับตาไม่เห็นได้นะครับ แต่ถ้าพื้นที่เยอะๆ โดยเฉพาะงาน Renovate นี่ อันตรายครับ
        2.ขั้นตอนพูดคุย Concept งานออกแบบ โปรดสังเกตุว่า ปกตินักออกแบบโดยสายเลือดนั้น มักจะมีอัตตาในสายงานอาชีพตัวเองสูงครับ คือ มักจะพูดคุยสอบถาม ค้นหา จนเจอว่าท่านชอบอะไร แบบไหน ถูกแพง แล้วนำไปออกแบบมาให้ท่านดู แต่ถ้าเป็นนักรับงานราคาถูก ก็มักจะลดความยุ่งยากลงโดย ยอมๆให้ท่านเลือกและสรุปความชอบงานโดยท่านสามารถชี้นิ้ว จิ้มๆๆๆเอา และบอกว่า ฉ้นชอบแบบนี้เหล่ะ ง่ายดี เอาเลยจบเร็ว ไม่ต้องเปลืองสมองคิด
        3.การนำเสนองานออกแบบ สมัยก่อนหน้านี้ที่วงการ IT ยังเป็นแบบล้าหลังอยู่ รูปแบบการนำเสนองานนี่แข่งกันที่ไอเดียและฝีมือล้วนๆ คือเสก็ตและเขียนด้วยมือ คือลายเส้น และลงสีล้วนๆ ดูรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ว่ากันไป แต่ปัจจุบันนี้ แข่งกันที่ ไอเดีย และ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ 3D ครับ มีตั้งแต่แบบง่ายๆคือ 3D แบบSketh แสงเงายังไม่เหมือนจริง จนกระทั่ง 3D แบบเรนเดอร์ คำนวณแสงเงาออกมา จนคนนอกวงการแยกไม่ออกว่า นี่มันรูปถ่ายงานจริงๆเอามาให้ตรูดูหรือเปล่าเนี่ย แต่สิ่งเหล่านี้ต้องแลกมาด้วย ราคา เวลา ค่าใช้จ่าย ที่สูงตามเงาครับ (ลองดูรูปแบบเปรียบเทียบที่ผมนำเอางานของตัวเองมาให้ดูชมกันครับ)


และแทนที่บ้านหนึ่งหลัง ขนาดสามห้องนอน ควรจะมีแบบทัศนียภาพ 3D มาให้ท่านดูซัก 12-16ภาพ ก็อาจจะเหลือแค่ ห้องละภาพครับ รวมๆซัก 5-6 ภาพ ที่เหลือต้องมโนเอาครับ และอาจจะไม่เรนเดอร์แสงเงา หรือทำก็แบบหยาบๆ เจ้าของงาน ส่วนใหญ่ไม่ทราบก็ แค่ไหนก็แค่นั้นครับ ผู้รับเหมางานโดนหางเลขไปด้วย หุๆ
        4.ขั้นตอนการลงรายละเอียดแบบ เพื่อส่งมอบให้ท่านและ "ผู้รับเหมางานออกแบบตกแต่งภายใน" ใช้คิดราคางานและทำงาน "นักออกแบบตกแต่งภายใน" ราคาถูก มักจะประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย ด้วยการเขียนแบบแสดงรายละเอียดแบบรีบๆ ลดเวลา ลดทอนรายละเอียด ลดหน้ากระดาษ และไม่เขียนเอกสาร B.O.Q หรือรายการปริมาณงาน(Bill Of Quantity) เพื่อประกอบแบบคิดราคางานรับเหมาครับ (ผมมีเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่หน้านี้ครับ http://designatelierinterior.blogspot.com/2015/02/boq-bill-of-quantity.html ท่านลองอ่านดูเถอะครับ จะได้ตาสว่างครับ)
        5.ขั้นตอนการตรวจสอบหน้างานครับ ปกติ Condo ขนาดย่อมๆซัก 2 ห้องนอน 1 ห้องรับแขก ช่างรับเหมางานตกแต่งภายใน แบบปกติก็ต้องใช้เวลาทำงาน ประมาณ 2-4เดือน ขึ้นกับความยากง่ายของงานนั้้น ส่วน "นักออกแบบตกแต่งภายใน" ก็ต้องประสานงานกับผู้รับเหมางาน รวมทั้งเข้าไปตรวจสอบงาน น่าจะมี ไม่ต่ำกว่า 5-10 ครั้ง ตามความยากง่ายเช่นกัน แต่ "นักออกแบบตกแต่งภายใน" ราคาถูก อาจจะเข้าไปแค่ครั้งสองครั้ง (อ่านไม่ผิดหรอกครับ) บางท่านอาจจะไม่เข้าไปเลย บอกหน้าตาเฉยว่า ออกแบบให้อย่างเดียว ถ้าจะให้ตรวจสอบงานด้วย ขอคิดราคาเพิ่ม มึนตึงกันไปสิครับท่าน
        6.ข้อนี้ของแถมครับ คือของแถมจริงๆครับ เจ้าของบ้าน เจ้าของงาน 100 ทั้ง 100 ชอบขอแถมงานงอกให้ "นักออกแบบตกแต่งภายใน" ช่วยออกแบบนู่น นี่ นั่น เพิ่มเติมให้หน่อย ใครที่ชอบออกแบบงานถูกๆ ก็มักจะเกี่ยงงอน อ้างนู่นนี่นั่นเหมือนกัน บางที่แกล้งลืมก็มี แต่ถ้าเจอเจ้าของงาน เขี้ยวลากพสุธา กัดไม่ปล่อย ก็ลำบากเหมือนกันครับ
        บทสรุปคือ....โลกนี้มีทั้งของถูกและไม่ดี(ส่วนมาก) ถูกและดี(ส่วนน้อย) แพงและไม่ดี(มีเหมือนกัน) แพงและดี(มีมากหรือน้อยไม่รู้นิ) ก็เลือกซื้อเลือกหาตามกำลังของท่านๆกันละครับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านบอกว่า "เราเป็นอย่างไร เราก็ได้อย่างนั้น" สาธุครับ

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

B.O.Q หรือรายการปริมาณงาน(Bill Of Quantity) สำคัญมาก...เวลาให้ผู้รับเหมางานเสนอราคา!!!

     B.O.Q หรือรายการปริมาณงาน(Bill Of Quantity) คืออะไรครับ? ผมเชื่อว่ามีหลายท่านคงสงสัย และมันสำคัญอย่างไร?
     เชื่อหรือไม่ครับ ใครที่เป็นนักศึกษาเรียนเกี่ยวกับการ "ออกแบบตกแต่งภายใน" สมัยผมเรียนนั้นไม่มีการสอนว่าต้องมีการเขียน B.O.Q ประกอบงานเขียน ออกแบบตกแต่งภายใน กันนะครับ ผมมาเรียนรู้ได้เอาหลังจากจบมาทำงานได้สักสองปีหลังจากนั้นว่า เอ้อ..! เจ้าเอกสารประกอบแบบตกแต่งภายในตัวนี้มันมีความสำคัญกับ ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมางานตกแต่ง และท่านเจ้าของงาน เจ้าของบ้านทั้งหลายมากที่เดียว มาดูกันนะครับ..(ใครที่รู้แล้วก็อย่าหาว่าผมพูดทำไมเลยครับ ผมว่าอย่างน้อยก็เป็นวิทยาทานให้กับน้องๆนักศึกษา และท่านเจ้าของบ้านตาดำๆ และผู้รับเหมาตกแต่งจำนวนมาก ก็คงเห็นด้วยกับผมเหล่ะครับ เพราะมี นักออกแบบตกแต่งภายใน หลายๆท่าน หน้าใหม่อาจไม่รู้ หน้าเก่าต้องรู้ แต่ไม่มีเวลาเขียน ขี้เกียจเขียน เขียนไม่ทัน ก็ว่ากันไป)
     อันนี้เป็นตัวอย่างเอกสารที่ผมเขียนขึ้นมาหลังจากการออกแบบ และเขียนแบบรายละเอียด งานตกแต่งภายในเสร็จแล้ว ที่นักออกแบบตกแต่งภายใน เรียกว่า B.O.Q หรือรายการปริมาณงาน(Bill Of Quantity) ซึ่งตัวอย่างนี้เป็นรายการเพียงแค่ห้องเดียว (แล้วท่านคิดดูว่าบ้านทั้งหลัง เอกสารจะมีกี่หน้าครับ) ที่ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน ต้องคิดราคางานที่ต้องเสนอโดยอิงตามแบบ และตาม B.O.Q นี้โดยที่ผู้ออกแบบ จะเว้นว่างช่องที่กรอกจำนวนปริมาณ และราคา ไว้ให้ผู้เสนอราคางานเป็นผู้กรอก ตัวเลข
     จุดประสงค์ก็คือ เพื่อให้ผู้รับเหมางานตกแต่งภายใน (ที่อาจจะมีมากกว่าหนึ่งราย และแม้ว่าจะมีแค่รายเดียว ก็ควรเขียนขึ้นมา) ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ ได้ทราบว่าจะต้องคิดราคาเพื่อเสนอเจ้าของบ้านว่ามีอะไรบ้าง โดยไม่สับสน ไม่หลงแบบ หลงรายการ และหลงประเด็น
     ประโยชน์โดยตรงกับทุกๆฝ่ายก็คือ
     -หากมีผู้เสนอราคางานมากกว่าหนึ่งราย ทั้งผู้ออกแบบ และเจ้าของบ้าน สามารถเปรียบเทียบรายการงาน ราคา แต่ละรายการได้โดยง่าย ไม่สับสนอลหม่านกันไป
     -สามารถเห็นความแตกต่าง หรือผิดปกติในผู้เสนอราคาแต่ละเจ้าได้ง่าย เช่นบ่อยครั้งที่เสนอจำนวนพื้นที่มาต่างกันมากไป
     -ผู้เสนอราคาแต่ละราย จะได้ลดทอนความได้เปรียบ เสียเปรียบ จากการเสนอราคาที่สับสน ไม่ตรงกัน หรือจงใจผิดพลาดโดยบริสุทธ์ใจ
     -ช่วยลดปัญหาข้อขัดแย้งให้กับทุกๆฝ่าย ไม่ต้องทะเลาะกันมั่ว ด้วยเหตุแห่งความไม่ชัดเจนในรายการงานว่า อันไหนรวม ไม่รวมในราคางาน เผลอคิดตก หก หล่น โดยไม่ได้เจตนา
     -ช่วยให้เจ้าของบ้าน เจ้าของงาน ต่อรองราคาผู้เสนอราคางาน ได้โดยสะดวกขึ้น (อันนี้สำคัญมากกกก ขอบอก ท่านเจ้าของอมยิ้มเลย..หุๆชอบใจสิท่าน)
     ดังนั้นทั้งหลายทั้งปวง จะเห็นได้ว่าการเขียนเอกสาร B.O.Q หรือรายการปริมาณงาน(Bill Of Quantity) นั้น ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ยกเว้น ผู้ออกแบบบางรายข้างต้นที่ผมบอก คือขี้เกียจ ทำไม่ทัน ไม่มีเวลา....และค่าแบบถูกมาก ไม่คุ้ม....เข้าใจตรงกันนะครับ ท่านทั้งหลาย อย่าไปบีบค่าออกแบบ นักออกแบบตกแต่งภายใน กันนักเลยครับ ค่ากระดาษอีกตั้งหลายแผ่น ที่ท่านเจ้าของบ้านมองไม่เห็น..ผมไม่ได้ประชดเลยนะครับ 555

วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เชื่อหรือไม่ "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" พูดคุยแต่เนิ่นๆ ช่วยท่านประหยัดงบได้เยอะกว่าค่าออกแบบ อีกครับ..?

        ผมมีประสบการณ์ "ออกแบบภายในบ้าน" ที่หลายครั้งพบว่า ท่านเจ้าของบ้านต้องเสียเงินซ้ำซ้อนไปกับ ค่ารื้อถอน ทุบทิ้ง วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ชอบ ไม่ต้องการ ไม่สวยงาม เป็นหลักหมื่นจนเหยียบหลักแสนก็เคยมีนะครับ เช่น รื้อฝ้าเพดานเพื่อเจาะช่องทำหลุมฝ้าใหม่ ทุบผนังบางผนังทิ้งเนื่องจาก พื้นที่ไม่เหมาะกับการใช้งาน หรือทุบสกัดผนัง เพื่อย้าย เดินเพิ่มตำแหน่งปลั๊กสวิทช์ไฟ หรือรื้อ Wall Paper ที่ทางโครงการแถมให้มา แต่ไร้คุณภาพ หรือลายไม่สวยงาม แบบพื้นๆเกินไป สีไม่ถูกใจ หรือบางบ้านที่ผนังทาสีไม่ติด Wall Paper แต่ต้องมาทาสีทับใหม่ อันเนื่องมาจาก การติดตั้งแอร์ หรือติดตั้งงานเฟอร์นิเจอร์ Built In (บางท่านอาจคิดว่า อ้าว!..ก็ให้ช่างรับผิดชอบไปสิ! แล้วท่านคิดว่า ช่างเขาจะไม่คิดบวกเข้าไปในราคางานกับท่านหรือครับ?) และพื้นไม้ลามิเนตที่โครงการแถมมาให้ คุณภาพยอบแยบ ย่างเท้าทีสะดุ้ง ลายไม่ถูกใจ ก็ต้องถูกรื้อ ทั้งหมดนี้รวมๆแล้ว บางครั้งค่ารื้อถอนนี่ แพงกว่าค่าออกแบบเสียอีก ทำเป็นเล่นไปครับ
        เรื่องแบบนี้ป้องกันได้ครับ ถ้าท่านเรียนรู้ไว้ก่อน นั่นคือขั้นตอนการคุยรายละเอียดกับ "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" หรือว่า "Interior Designer" ในช่วงที่บ้านหรืออาคารยังก่อสร้างอยู่ครับ ผมจะไล่ให้ดูเป็นลักษณะของชนิดที่พักอาศัยก่อนนะครับ
        ยอดฮิตเลย..คือ"คอนโดมิเนียม" หรือ "บ้านจัดสรรค์" นั่นเอง เวลาท่านไปซื้อห้องชุดใน"คอนโดมิเนียม" หรือ "บ้านจัดสรรค์"ไม่ว่าจะราคาถูกแพงก็ตาม โดยมากทางโครงการจะระบุ วัสดุอุปกรณ์มาตรฐานของบ้านมาให้ เช่น พื้นไม้ กระเบื้อง ไฟฟ้า ดวงโคม สุขภัณฑ์ สีผนัง ตู้เสื้อผ้า ชุดครัว บลาๆๆ สิ่งเหล่านี้ถ้าเราวางแผนให้ดี ตัดสินใจให้ชัดเจนแต่แรกตั้งแต่เริ่มซื้อ "คอนโดมิเนียม" หรือ "บ้านจัดสรรค์" เราสามารถคุยต่อรองกับทางโครงการผู้ขายได้ครับ โดยส่วนมากเขาจะยอมให้เปลี่ยนแปลง ลดเพิ่มรายละเอียดได้ครับ ยกเว้นโครงการที่มีราคาถูกจริงๆ อาจจะไม่ยอมเพื่อความสะดวกของเขาครับ เพียงแต่ว่า...ส่วนมากแล้ว ถ้าเป็นรายการลดทอน เขาจะคืนเป็นเงินค่าของให้เราค่อนข้างน้อย แต่..บอกได้เลยครับว่า ดีกว่ามาเสียค่ารื้อถอน ให้เสียหาย ลามวุ่นวายในภายหลังครับ โดยที่รายละเอียดเหล่านี้ ควรผ่านการพูดคุยปรึกษากับ "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" ตั้งแต่ตัดขั้นตอนสินใจซื้อและสรุปเลือกแบบบ้าน หรือห้องชุดแล้ว และชัดเจนว่า ต้องการใช้งาน "สถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน" ให้เข้ามาช่วยดูช่วยเลือกตั้งแต่เห็นแบบแปลนบ้าน หรือห้องเลยครับ (แต่ต้องพูดคุยกับผู้ออกแบบตกแต่งภายในแล้วนะครับ ในรายละเอียดการออกแบบภายในแล้วด้วยนะครับ อาจจะยังไม่ 100 % ก็ไม่เป็นไรครับ แต่ควรให้ใกล้เคียงที่สุด)
       อันดับแรกเลยครับ แบบแปลนห้อง จะกั้นจะยกเลิกผนังบริเวณใดคิดให้ดีครับ สีผนัง หรือ Wall Paper ถ้าท่านมีงบใช้ของดี หรือใช้งานดีไซน์ ตรงนี้แนะนำให้ ยกเลิกเหลือแค่เก็บงานทาสีรองพิ้นเลยครับ ที่เหลือไว้ให้งานออกแบบจัดการให้ดีกว่าครับ
       อันดับต่อมา จุดตำแหน่งสวิทช์ ปลั๊กไฟ ดวงโคมส่องสว่าง แอร์จะลดจะเพิ่ม จะย้าย ดูให้ดีในช่วงที่กำลังออกแบบภายใน ให้ผู้ออกแบบภายใน ทำตรงนี้ให้ทันกับเดทไลน์งานก่อสร้างได้ครับ
       อันดับต่อมา ห้องน้ำครับ ส่วนมากที่เจอบ่อยๆเลยคือการยกเลิกอ่างอาบน้ำเป็นส่วนยืนอาบครับ และก็การเลือกแบบกระเบื้อง
       ต่อมาก็ชุดครัวและตู้เสื้อผ้าครับ เดี๋ยวนี้มักจะแถมมาให้ด้วย แต่ดูให้ดีครับว่ารับได้หรือไม่ ทั้งวัสดุและอุปกรณ์ ยกเลิกได้ครับ
       ถัดมาก็เป็นเรื่องพิ้นครับ จะเอาไม้จริง ไม้ปาร์เก้ หิน กระเบื้อง เอาให้แน่ครับ
       สุดท้าย ฝ้าเพดานครับ ออกแบบภายในให้เสร็จก่อนครับ ว่าจะมีหลุม มีซ่อนไฟ จะเจาะจะเหลี่ยม จะกลม เอาให้แน่ชัดก่อนดีกว่ามารื้อทีหลังครับ
       โดยสรุปก็ประมาณนี้ครับ ส่วนรายละเอียดแต่ละที่แต่ละโครงการ อาจจะยืดหยุ่นให้ท่าน มากน้อยไม่เท่ากันก็ว่ากันไปครับ ส่วนท่านที่จ้างผู้รับเหมาก่อสร้างสร้างบ้านให้ จะโดยสถาปนิก หรือสถาปนึก (คือ ท่านหรือผู้รับเหมา หรือเจ้าหน้าที่เขต นึกให้ท่าน) จะง่ายกว่าครับ ในการที่จะเลือกสรุป เอาหรือไม่เอา วัสดุอุปกรณ์ที่ว่ามาทั้งหมด โดยผ่านการปรึกษษากับผู้ออกแบบภายในครับ ช่วยท่านประหยัดได้มากว่า ค่าออกแบบจริงๆนะครับ